วันที่ 17 มกราคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นำทีม One Team สพฐ. (สวก. สทศ. สบว. ศนฐ. สบน. และสกก.) ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง อาณาจักรสุโขทัย : รุ่งอรุณแห่งความสุข ต้นกำเนิดลายสือไทย ความภาคภูมิใจแห่งราชธานี ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยมีผู้บริหาร สพม.สุโขทัย สพป.สุโขทัย เขต 1 และสพป.สุโขทัย เขต 2 สพม.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร รวมถึงส่วนราชการจังหวัดสุโขทัย 14 หน่วยงาน ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา จำนวนกว่า 1,200 คน ร่วมงานในครั้งนี้ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel และแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกช่องทาง
ทั้งนี้ด้วยวันที่ 17 มกราคม ตรงกับวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในช่วงเช้าจึงได้มีพิธีบวงสรวง และรัฐพิธีที่ทางจังหวัดสุโขทัยดำเนินการเพื่อเป็นการรำลึกถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้ทรงมีคุณูปการต่อชาติไทย ทั้งในด้านการปกครองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประดิษฐ์อักษรไทยให้มีใช้เป็นภาษาไทยในการสื่อสารของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งในพิธีดังกล่าวจัดโดยจังหวัดสุโขทัย และมีผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชธานีแรกของไทย
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวระหว่างการเปิดงานว่า สุโขทัยเป็นจังหวัดที่มีอารยธรรม และประเพณีที่สร้างความภาคภูมิใจมานานกว่า 740 ปี อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นลายสือไทย การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นสะพานให้นักเรียนได้รู้จักประเพณีที่ดีงาม วิถีชีวิตตั้งแต่อดีต ต่อยอดมาถึงปัจจุบัน ภายใต้การเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองไทย รักและภาคภูมิในความเป็นไทย ผ่านการคิดวิเคราะห์มีส่วนร่วมเกิดสำนึกรักษ์บ้านเกิด ผ่านกระบวนการเรียนรู้ Active Learning โดยบูรณาการแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นและนำไปสู่การบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ ซึ่งนักเรียนมีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นชาวจังหวัดสุโขทัยและเห็นคุณค่าขององค์ความรู้ วิถีที่คุ้นชินมาต่อยอดเพิ่มมูลค่านำไปสู่การนำไปใช้จริง เป็นการสืบสานอารยธรรม ประเพณี วิถีการดำเนินชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการแสดงพิธีเปิดที่แสดงถึงการกำเนิดของหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ปรากฏเป็นแบบแผนการเขียนเป็นอักษรไทย นำมาใช้เป็นภาษาในการสื่อสารของไทยในปัจจุบัน เป็นผลงานการแสดงของนักเรียนโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุโขทัย มีลักษณะเด่น และยังมีการต่อยอด Active Learning นำไปสู่การใช้ในชีวิตจริง และสอดคล้องกับข้อเสนอที่ดีจากสภานักเรียนในวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในประเด็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่นักเรียนคาดหวัง โดยอยากให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ควรมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ไม่เน้นการท่องจำเนื้อหาในตำรา ให้นักเรียนร่วมออกแบบสิ่งที่อยากเรียน รวมทั้งมีการนำเสนอสิ่งดีดีของชุมชนในแต่ละโรงเรียน ซึ่งความหลากหลายของความงดงามของวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นมากมาย และจากนิทรรศการที่ได้จัดนำเสนอ มีความหลากหลาย และความแตกต่าง ทั้งในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ทุกอำเภอของจังหวัดสุโขทัย มีหลักสูตรท้องถิ่นของตนเองโดยการบูรณาการท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา และที่สำคัญใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน ภายในอำเภอ และจังหวัดเป็นห้องเรียนรวมวิชา จัดทำเป็นหน่วยและกิจกรรมฐานที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับความสนใจของนักเรียนของโรงเรียนลิไท หรือจะเป็นดนตรี นาฏศิลป์ หรือท่าร่ายรำที่มีการประดิษฐ์คิดค้นจากอดีตและมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ของโรงเรียนอุดมดรุณีที่นักเรียนทุกคนสามารถรำระบำสุโขทัยได้ แล้วนำมาแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวในงานวันลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงไปไกลถึงระดับโลก หรือจะเป็นโรงเรียนบ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ ที่มีหลักสูตรมัคคุเทศก์น้อย (Young Guide) นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ใกล้โรงเรียน จนนักเรียนสามารถนำเสนอ แนะนำนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่ว และที่สำคัญนักเรียนได้นำเสนอความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองจากการทอผ้าตีนจกของอำเภอศรีสัชนาลัย บอกเล่าถึงขั้นตอน อธิบายความงดงามของลายผ้าทั้งรูปแบบลายโบราณ และลายประยุกต์ นำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากลายผ้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน ดึง Soft Power สร้างความนิยมในการสวมใส่ผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากการถักทองลายโบราณของสุโขทัยได้อย่างงดงาม ซึมซับผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วยกิจกรรมชุมนุมที่นักเรียนทุกคนได้ลงไปเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน สร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ส่งผลต่อสมรรถนะในหลักสูตรสถานศึกษา ตอบโจทย์เป้าหมาย (Goal) ของหลักสูตรชาติ นอกจากนี้ยังมีศูนย์การศึกษาพิเศษ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชรที่ได้ใช้แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์บูรณาการเป็นห้องเรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต พัฒนาการด้านต่างๆ ของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในด้านต่างๆ และยังเป็นการพัฒนานักเรียนในด้านคุณลักษณะอีกด้วย
ทางด้านกิจกรรมภายในงาน นอกจากนิทรรศการ การจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ Active Learning บูรณาการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยสภานักเรียนทั้ง 27 โรงเรียนในสังกัด สพม.สุโขทัย แล้ว ยังมีการเสวนาทางวิชาการในด้านการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจในท้องถิ่น โดยได้รับโอกาสอันดีจาก ดร.ครรชิต มนูญผล อดีตศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ หมอก้อง-นายแพทย์สรวิชญ์ สุบุญ ดารานักแสดง รวมถึงครู และนักเรียนตัวแทนจังหวัดสุโขทัย โดยผู้ร่วมเสวนาต่างแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และนำไปใช้จริง ทั้งยังเน้นให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในสิ่งที่เรามี ในสิ่งที่บรรพบุรุษให้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและนำไปสู่การสร้างอาชีพในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษของ พันเอก (พิเศษ) วันชนะ สวัสดี ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนตัวแทนจากทุกโรงเรียน รวม 600 คน ที่จะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดทั้งในด้านการเรียน การใช้ชีวิต ผ่านแบบอย่างและบางฉากจากในภาพยนตร์ รวมถึงการสร้างความรักและภูมิใจในความเป็นคนไทย ที่เรามีทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน และเสริมกิจกรรมท้ายที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านแนวคิดของคนรุ่นใหม่ด้วยพิพิธภัณฑ์บันดาลไทย สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยสู่สากล
“ประวัติศาสตร์นอกจากสร้างความภาคภูมิใจ มิใช่เกิดจากการท่องจำ แต่คือการนำเรื่องราวในอดีตมาเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ เน้นให้นักเรียนเห็นถึงคุณค่า ผ่านการคิด วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์สิ่งต่างๆ ที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นประโยชน์ต่อการคงอยู่ในความเป็นชุมชน ซึ่งคุณค่าจะเกิดขึ้นและนำไปสู่การเป็นเจ้าของร่วมอย่างภาคภูมิ อีกทั้งสามารถก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและสู่สากลได้อย่างสง่างามผ่านนักเรียน บนพื้นฐานของความเป็นไทย อีกทั้งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง และการมีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความสามัคคี และดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ดังนั้น เราควรจัดการเรียนรู้สร้างให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่า ผ่านการปฏิบัติจริง สนุกสนาน มีส่วนร่วม ด้วยการใช้สื่อร่วมสมัย หรือการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนและสถานที่จริง นอกจากนั้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะเป็นบทเรียนสอนให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับความรักและความภาคภูมิใจที่เชื่อมโยงกับทุกวิชาได้อย่างมีความหมาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมทั้งสิ่งที่ได้พบจากพื้นที่ ต้องขอบคุณที่ทุกท่านได้ขับเคลื่อนคุณภาพลงสู่นักเรียนได้เชิงประจักษ์ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าในที่อื่นๆ ได้ผลเช่นเดียวกันค่ะ ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว