ศธ. ลงพื้นที่อุบลฯ-ยโสธร เยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนประจำพักนอน พอใจบริหารจัดการได้ดี

วันที่ 31 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ณ สถานศึกษาในเขตพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้บริหาร สพฐ. และผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่ ร่วมติดตามในครั้งนี้ด้วย

โดยในช่วงเช้า รมว.ศธ. พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านกอก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งโรงเรียนบ้านกอก เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีพื้นที่บริการประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน คือ บ้านกอก หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 108 คน จากการตรวจเยี่ยมพบว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามมาตรฐานหลักสูตรฯ และจัดโครงการอาหารกลางวันได้อย่างถูกสุขลักษณะ เด็กๆได้รับประทานอาหารกลางวันตรงตามหลักโภชนาการ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ ในการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียนได้

จากนั้น รมว.ศธ. พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 28 จังหวัดยโสธร เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาของโรงเรียนพักนอน โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 28 จังหวัดยโสธร เป็นโรงเรียนประเภทนักเรียนอยู่ประจำ เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 539 คน โดยจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ประสบกับความยากไร้ ทางเศรษฐกิจ สังคม ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ และส่งเสริมความมั่นคงของชาติ ตลอดจนรับนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานตามหลักสูตรฯ การศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นางสาวตรีนุช ได้กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า สำหรับโรงเรียนบ้านกอกเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีการบริหารจัดการได้ดี เพราะมีการดึงหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษา แต่ยังขาดผู้อำนวยการโรงเรียน โดยมีครูผู้สอนทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ ซึ่งขณะนี้เรามีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่มีจำนวนเด็กต่ำกว่า 120 คนอยู่หลายแห่ง ปัญหาคือเมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณอายุราชการไปแล้วไม่มีการจัดสรรอัตรากลับคืนมาให้ ทำให้โรงเรียนในกลุ่มนี้เกิดภาวะขาดครูและขาดผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งการแก้ปัญหาของ ศธ. ในเรื่องนี้คือ เราได้มุ่งเป้าหมายสร้างโรงเรียนคุณภาพ โดยให้โรงเรียนเหล่านี้ได้เข้ามาเชื่อมต่อใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ แต่ก็พบปัญหาอีกว่า โรงเรียนขนาดเล็กในกลุ่มนี้ไม่สามารถควบรวมหรือเข้าไปเชื่อมต่อกับโรงเรียนคุณภาพได้ ทาง ศธ. จึงได้ทบทวนและวางแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการปรับอัตราโครงสร้างเพื่อให้มีผู้อำนวยการโรงเรียนและครูเข้ามาดูแลบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด

“ขณะที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 28 ต้องยอมรับว่าโรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะด้านทักษะอาชีพที่ทำให้เด็กเรียนรู้อาชีพต่างๆ มากมาย และสามารถต่อยอดองค์ความรู้จากอาชีพเหล่านี้ได้ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องสถานศึกษาปลอดภัยตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ก็สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกมิติ เพราะโรงเรียนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา เช่น การตรวจค้นก่อนขึ้นหอพัก หรือการคัดกรองบุคคลแปลกหน้า เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำงานที่ท้าทาย เนื่องจากต้องดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการใช้กล้องวงจรปิด การสุ่มตรวจ การได้รับความร่วมมือกับชุมชน ครูหอ ครูเวร ในการดูแลนักเรียนทุกคน และตอนเย็นของทุกวันก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้ นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้นอีกด้วย” รมว.ศธ. กล่าว