รมว.ศธ. ร่วมงานวันราชภัฏ เสนอ “การปฏิรูปครู” สอดคล้องยุค VUCA World

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ร่วมแถลงข่าวรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21 “Professional Teacher of Rajabhat University : PTRU Model” ในที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมวันราชภัฏ โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) รวมทั้ง ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องอัศวินแกรนด์ A โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นอกจากจะเป็นวันแห่งความรักสากลแล้ว ยังถือเป็นวันที่สำคัญแห่งหนึ่งของวงการครูนั่นคือ “วันราชภัฏ” ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญในการผลิต “ครูคุณภาพ” ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก และบริบทแวดล้อม ในโลกศตวรรษที่ 21 (VUCA World) ส่งผลให้การศึกษาในยุคปัจจุบันประกอบด้วยองค์ความรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ใหม่ได้หลายช่องทาง ดังนั้น บุคลากรทางการศึกษาจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อยกระดับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันสังคมไทยมีความคาดหวังสูงกับคุณครู ในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้ และทักษะต่างๆ ให้กับอนาคตของชาติในเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นขีดความสามารถ หรือสมรรถนะของคุณครูต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่สูงขึ้น

ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำนโยบายทางการศึกษาตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ด้านการศึกษา ระบุว่า ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู ทั้งยังระบุว่าให้มีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการศึกษา ให้สอดคล้องทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ สร้างรากฐานทางการศึกษาที่แข็งแกร่ง เป็นคนดี และคนเก่ง เป็นผู้นำสำหรับโลกในอนาคต

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาหลายด้าน อาทิ นโยบายสถานศึกษาปลอดภัยในทุกมิติ นโยบายเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว และเพิ่มค่าอาหารกลางวัน เพื่อลดภาระผู้ปกครอง นโยบายการเรียนรู้แบบ Active Learning และ Digital Platform ที่ทันสมัย ซึ่งครูถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคุณภาพทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงให้ความสำคัญกับครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากยังมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ดังนั้น การปฏิรูปการผลิตครูในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญจำเป็นต่อการปรับแนวทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ การผลิตครูคุณภาพ สามารถปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย และท้าทาย เข้าใจเด็กนักเรียน สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้รอบด้านอย่างสร้างสรรค์ บูรณาการการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยครูคุณภาพควรได้รับการพัฒนาตลอดช่วงของการปฏิบัติงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษา

“รูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21  หรือ PTRU Model ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เกิดขึ้นได้ด้วยการผลักดันของ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโครงการฯ รวมทั้งความร่วมมือจากอธิการบดี มรภ. และ มรภ.ทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง ทำใหการขับเคลื่อนตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนรูปแบบการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครู ที่เก่ง ดี และมีความสามารถ สอดคล้องกับความต้องการของสังคม” รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ คุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพครู และเป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ ได้ตรวจสอบหลักสูตร PTRU Model ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ ทั้ง 17 สมรรถนะ พบว่า เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพของคุรุสภา ไม่ว่าด้านการปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ ภาวะผู้นำและสัมพันธ์ชุมชน และจิตวิญญาณความเป็นครู ตามมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2562 โดยในขั้นตอนต่อไป คุรุสภาจะดำเนินการพิจารณารับรองหลักสูตรเหล่านี้ ร่วมกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผ่านที่ประชุมอธิการบดี มรภ. และ มรภ. พร้อมผลักดันและนำรูปแบบไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รมว.ศธ. กล่าวในตอนท้าย

ขอบคุณภาพ/ข่าว : ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.