สพฐ. ประชุม ผอ.เขตพื้นที่ ขับเคลื่อน รร.คุณภาพ ยกระดับการศึกษาทั่วประเทศ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ รับทราบนโยบายเร่งด่วน และข้อราชการต่างๆ ที่จะนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2566 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นายพัฒนะ พัฒนทวีดล นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้พูดคุยถึงแผนที่จะขับเคลื่อนงาน และใกล้เวลาที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้คุยกันไว้เมื่อครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น ผอ.เขตฯ เมื่อมาทำงานตรงนี้แล้วให้เข้าใจสะท้อนสภาพปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจ อุปสรรคต่างๆ ที่อาจส่งผลให้การทำงานยังไม่บรรลุเป้าหมาย และอยากให้ สพฐ. พัฒนาหรือต่อยอดในเรื่องใดบ้างเพื่อให้การทำงานในปีถัดไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยขอให้เร่งติดตามงานที่ได้มอบหมายไว้ให้มีความเรียบร้อย

พร้อมกันนั้นยังได้กำชับให้เขตพื้นที่ยึดแผนพัฒนาประจำปี และออกแบบการบริหารงานโรงเรียนคุณภาพให้มีความชัดเจน ว่าในแต่ละเขตมีโรงเรียนหลัก และโรงเรียน stand alone อยู่ทั้งหมดกี่แห่ง และที่ไหนบ้าง และโรงเรียนที่มีความพร้อมจะไปเรียนในโรงเรียนคุณภาพมีกี่โรงเรียน และต้องวางแผนขับเคลื่อนโรงเรียนทั้ง 3 กลุ่มนี้ให้มีคุณภาพ รวมถึงให้ดูแลอัตรากำลังของครูให้เพียงพอ เช่นเดียวกับบ้านพักครู หรือสวัสดิการต่างๆ ต้องมีความพร้อม และต้องทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำหมดไป

“นอกจากนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ยังอาจมีผลกระทบในการจัดการเรียนการสอนอยู่ การแก้ปัญหาให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงขอกำชับให้เขตพื้นที่ต้องมีแผนการขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษา มีการติดตาม learning loss ตลอดจนความพร้อมของโรงเรียน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต ว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน แต่ทั้งนี้การใช้งบประมาณเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนแผนงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ จึงต้องใช้การทำ csr ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย พร้อมทั้งมีความห่วงใยถึงกรณีเป็นข่าว ขอให้โรงเรียนและเขตพื้นที่ มีความรวดเร็วในการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา รายงานข้อเท็จจริง และต้องมีแผนเผชิญเหตุ ระงับเหตุด้วยความรวดเร็ว และขอเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ใส่ใจกับความปลอดภัยเป็นสำคัญ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว