สพฐ. ชื่นชมนครศรีธรรมราชสร้างคุณค่าประวัติศาสตร์ใกล้ตัว ผ่านแหล่งเรียนรู้ ผนึกกำลังชู “นครศรีธรรมราชศึกษาออนไลน์” เรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคใหม่เข้าถึงใจ GEN-Z

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช “นครแห่งอารยธรรม งามล้ำพระพุทธศาสนา ศรีธรรมราชา อาณาจักรตามพรลิงค์” ณ สวนศรีธรรมโศกราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีผู้ร่วมงานจากหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการ อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรสังกัด สพม.นครศรีธรรมราช สพป.นครศรีธรรมราช เขต 1-4 และทุกภาคส่วนด้านการศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ผู้บริหารเขตพื้นที่ จาก สพม.พัทลุง สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร พร้อมด้วยคุณกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ (ครูลิลลี่) ครูผู้สอนพิเศษวิชาภาษาไทยที่มีแนวทางและเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ นายครรชิต มนูญผล อดีตศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ และบุคลากร สพฐ. ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักและคณะจาก สวก. สบว. สกก. สทศ. และ ศนฐ. ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้มีผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากร และนักเรียน เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่าน OBEC CHANNEL ทุกช่องทาง

สำหรับการนำเสนอกิจกรรมภายในงานเป็นการสร้างความตระหนักและความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้แก่ผู้เรียน โดยมีการนำเสนอวิดีทัศน์นโยบายและแนวคิดการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้ผู้ร่วมงานได้รับทราบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจน โดยมีกิจกรรมหลักของงานที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนาทางวิชาการด้านการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจในท้องถิ่น เรื่อง ความหลากหลายวัฒนธรรมประเพณี บ่มเพาะคนดีศรีนคร โดยปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ (ครูลิลลี่) ศน.ครรชิต มนูญผล และน.ส.อัญชนา จินาภิรมย์ นักเรียนโรงเรียนพิปูนสังฆรักษ์ประชาอุทิศ เข้าร่วมการเสวนา รวมถึงการแสดงระบำสราญราษฎร์สักการะ การรำมโนราห์ของนักเรียน และการจัดแสดงนิทรรศการของสหวิทยาเขตใน สพม.นครศรีธรรมราช จำนวน 14 นิทรรศการ ซึ่งเป็นการนำเสนอกระบวนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านสื่อ แหล่งเรียนรู้ของแต่ละสหวิทยาเขตอย่างน่าสนใจ และสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่น ๆ ได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในแต่ละกิจกรรม นักเรียนได้แสดงออกถึงความภาคภูมิในจังหวัดนครศรีธรรมราชและเห็นคุณค่าความสำคัญของการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น รวมทั้งยังต่อยอดเพิ่มเป็นมูลค่าผ่านเรื่องราวของประวัติศาสตร์ออกเป็นผลิตภัณฑ์ โอกาสในการสร้างอาชีพ ผ่านทั้ง online และดิจิทัล รวมถึง กิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ “วาทกรรมทำพระธาตุ และเส้นทางสู่มรดกโลก โดย ดร.รอยพิมพ์ใจ  เพชรกุล การแข่งขันการตอบปัญหาวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อีกทั้ง การบรรยายพิเศษ โดย พันเอก (พิเศษ) วันชนะ สวัสดี ที่มีนักเรียนกว่า 500 คน เข้าฟังบรรยายในครั้งนี้ด้วย

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “ความท้าทายในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ การทำให้เด็ก GEN-Z ในยุคปัจจุบันได้เรียนรู้โดยเข้าถึงใจของพวกเขา ซึ่งไม่สามารถใช้การเรียนการสอนแบบท่องจำได้ แต่จะต้องทำให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข จากความคุ้นชินใกล้ตัว ให้มองเป็นสิ่งที่นักเรียนได้เห็นคุณค่า โดยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เข้าถึงนักเรียน ให้นักเรียนมีการคิด วิเคราะห์ ถกแถลงประเด็น และสื่อสารออกมาได้อย่างเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 และได้เน้นย้ำว่าการขับเคลื่อนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เป็นหน้าที่สำคัญของเราทุกคนที่ต้องดำเนินการไปด้วยกัน โดยบทเรียนของประวัติศาสตร์จะนำไปสู่การมีคุณค่าในปัจจุบัน และสร้างมูลค่าในอนาคตให้กับประเทศของเราได้เป็นอย่างดีผ่านเด็กยุค GEN-Z ทุกคน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์จังหวัดนครศรีธรรมราช คือ การร่วมมือกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อย่างเข้มแข็งของ 13 สหวิทยาเขต สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และ สพม.นครศรีธรรมราช ที่ร่วมกันสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นจริง อาทิ การเรียนรู้อาณาจักรตามพรลิงค์ มรดกทางวัฒนธรรม สู่มรดกโลก จากสหวิทยาเขตเบญจมราชูทิศ เรื่องเล่าหน้าเมือง ลือเลื่องเมืองคอน จากสหวิทยาเขตกัลยาณี เป็นต้น จะเห็นได้ว่านักเรียนสามารถพูดโต้ตอบด้วยความมั่นใจ มีไหวพริบที่ดี สามารถยกตัวอย่างและอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน และกิจกรรมการขับเคลื่อนที่สำคัญของนครศรีธรรมราช คือ การนำระบบออนไลน์และดิจิทัล ไปสู่การเรียนรู้ให้กับนักเรียน ภายใต้หลักสูตร “นครศรีธรรมราชศึกษาออนไลน์” ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย สามารถเรียนรู้ได้ในทุก ๆ ที่ เป็นที่สนใจ และเข้าถึงใจของนักเรียน

พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวชื่นชมความเข้มแข็งของ One Team สพฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้ถึงคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม และได้ฝากเรื่องการจัดการเรียนการสอนไว้ว่า “การบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ ที่มิใช่เพียงให้เกิดกับเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องให้เกิดขึ้นกับเด็กทุก ๆ คน  ไม่เน้นที่เนื้อหา แต่ต้องบ่มเพาะจนเป็นพฤติกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างต้องบูรณาการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเข้าถึงได้อย่างง่ายและมีความหมาย ไม่ใช่มาจากการท่องจำ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและไม่น่าสนใจ แต่ควรให้เด็กมีทักษะที่ได้จากการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ ที่เขาจะสามารถจดจำได้ตลอดไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว