สพป.สกลนคร เขต 1 ระดมเครือข่าย 5 เขต พัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนเครือข่ายวิทยาศาสตร์พลังสิบ

วันที่ 19 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 โดยกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนเครือข่ายวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา โดยมี ว่าที่ร้อยเอกวิสาร ปัญญชุณห์ รองศึกษาธิการภาค 10 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11 เป็นประธาน นายไพรวัลย์ จันทะนะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอึ้งกุ่ยเฮง โรงเรียนอนุบาลสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนเครือข่ายวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา ในครั้งนี้ เป็นการขยายผลด้านทักษะและประสบการณ์จัดการเรียนรู้จากโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา สู่ครูผู้สอนโรงเรียนเครือข่ายในโครงการฯ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนโรงเรียนเครือข่ายโครงการฯ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามแนวทางโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยผู้เข้าอบรมประกอบด้วย ครูและบุคลากรจากโรงเรียนเครือข่ายในโครงการฯ จำนวน 150 คน จาก 50 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 5 เขต ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ  คณะกรรมการดำเนินงานและวิทยากรประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารและครูโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลสกลนคร โรงเรียนบ้านอากาศ โรงเรียนนาแกผดุงราชกิจเจริญ โรงเรียนบ้านนาหว้า และโรงเรียนอนุบาลเซกา

ทั้งนี้ โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายการพัฒนา เพื่อพัฒนานักเรียนทุกพื้นที่ของประเทศไทยให้มีสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครู การสนับสนุนทรัพยากร และการพัฒนาคุณภาพวิชาการ ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564-2573 โดยเริ่มรับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ต้นแบบ ในปีการศึกษา 2564 ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ระดับละ 100  โรงเรียน รวม 200 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่ายต่อไปอีกศูนย์ต้นแบบละ 10 โรงเรียนเครือข่าย

ภาพทั้งหมด https://photos.app.goo.gl/bsyw6s8ZXoE5zx9N6

นางสาวดุสิดา พุทธิไสย