สพฐ. ชื่นชมการศึกษาพิเศษ จ.ลพบุรี เน้นเครือข่ายร่วมพัฒนาเด็ก ศักยภาพแน่นทักษะกีฬา-อาชีพ

วันที่ 18 เมษายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้เยี่ยมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กในโรงพยาบาล ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี พร้อมนายอานนท์ จ่าแก้ว ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จังหวัดลพบุรี และคณะทำงาน ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมห้องเรียนของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีคณะแพทย์และพยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ ประกอบด้วย แพทย์หญิงหทัยรัตน์ อัจจิมานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ คุณมารยาท รัตนประทีป รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล แพทย์หญิงรัศมี ตั้งศิริ  นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายแพทย์สุรัตน์ ผิวสว่าง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ พยาบาลวิชาชีพรดาธร นิลละออ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ให้ข้อมูลดำเนินงาน

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจ เพื่อร่วมวางแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการจัดการศึกษาและการรักษาเด็กเจ็บป่วยในระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษกับโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ซึ่งจะมีการขยายผลสู่ศูนย์การศึกษาพิเศษและโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย 1) มูลนิธิสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน 2) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนด้านการคิดค้นสื่อ และวิทยากรในการอบรมครูเพื่อใช้สื่อเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน 3) โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เป็นผู้จัดหาสถานที่และงบประมาณ และ 4) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้สนับสนุนครูและงบประมาณ สำหรับการให้บริการ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเด็กป่วยที่รับบริการที่ห้องศูนย์การเรียนฯ ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มป่วยด้วยโรคศัลยกรรมทั่วไป กลุ่มคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และกลุ่มคลินิกกระตุ้นพัฒนาการ จัดการเรียนการสอนใน 3 หลักสูตร ตามช่วงวัย ทั้งหลักสูตรปฐมวัย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะอาชีพ และ 2) กลุ่มเด็กป่วยที่ติดเตียง ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มป่วยด้วยโรคเบาหวาน หอบหืด ปอดอักเสบ และอุบัติเหตุ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยจัดการเรียนการสอนในลักษณะสอนเสริมและทบทวนบทเรียนในระหว่างเด็กพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล สอดคล้องกับสภาพความเจ็บป่วยและการรักษาทางการแพทย์ ในปีการศึกษา 2565 ซึ่งมีเด็กเข้ารับบริการจำนวน 63 คน และส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมครบจำนวน

“จากการเยี่ยมชมศูนย์ฯ ในวันนี้ ขอชื่นชมความร่วมมือการดำเนินการที่เข้มแข็ง ระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์การศึกษาพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเด็กๆ ทุกคนด้วยความเสียสละ ทุ่มเท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการชั้นเรียนและการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และมีบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการปฏิบัติกิจกรรมและการเรียนรู้อย่างมีความสุขไม่เหมือนกับเป็นโรงพยาบาล เด็กมีความร่าเริง กล้าแสดงออก ตอบคำถามอย่างคล่องแคล่ว และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กทุกคนได้รับการดูแลจากครู ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเป็นอย่างดี” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ต่อมาในวันที่ 19 เมษายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้เยี่ยมชมความร่วมมือที่เข้มแข็งของศูนย์การศึกษาพิเศษกับกองพลทหารปืนใหญ่และให้กำลังใจ พร้อมทั้งติดตามผลการปฏิบัติงาน  ณ หน่วยบริการเมืองลพบุรีของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี พร้อมทั้งเยี่ยมนักเรียนซึ่งรับบริการที่บ้าน ในโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” โดยหน่วยบริการดังกล่าวได้จัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทุกประเภท ในพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 38 คน และมีผู้บริหาร ครูและบุคลากร รวม 6 คน และจัดบริการทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความบกพร่อง โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เรียนที่รับบริการประเภทในหน่วยบริการ ลักษณะไป-กลับ และกลุ่มผู้เรียนที่รับบริการที่บ้านในโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” พร้อมทั้งจัดการเรียนการสอนที่เน้นเครือข่ายด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 71 ที่สนับสนุนอาคาร งบประมาณ กำลังพลทหารในการดูแลหน่วยฯ การจัดกิจกรรมบำบัดเพื่อพัฒนาเด็ก ที่ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย การทรงตัว สติปัญญา สมาธิ ภาษาและสังคมดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือของศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเขาพระงาม โรงพยาบาลอานันทมหิดล และศูนย์การศึกษาพิเศษ และการส่งเสริมทักษะอาชีพเบื้องต้นให้กับกลุ่มเด็กโตที่มารับบริการ เพื่อวางพื้นฐานด้านอาชีพให้กับเด็กและสร้างรายได้ระหว่างเรียน

พร้อมกันนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมนักเรียนซึ่งรับบริการที่บ้าน ในโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” เป็นเด็กหญิงอายุ 15 ปี ซึ่งบกพร่องทางร่างกาย กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และมีพัฒนาการล่าช้า พบว่าบ้านนักเรียนมีความขาดแคลนในหลายด้าน จึงได้ประสานความช่วยเหลือเบื้องต้น โดย ผอ.ศูนย์ฯ จัดหาเตียงปรับระดับได้ ให้นักเรียนสามารถทำกิจกรรมได้สะดวกขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถดำเนินการได้ช่วยสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงสภาพบ้านให้ดีขึ้น และมีผู้สนับสนุนมอบเงินขั้นต้นเป็นจำนวน 5,000 บาท เพื่อจัดซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องใช้เป็นประจำอีกด้วย

จากนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะทำงาน ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจผู้บริหารและครูโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และนักเรียนเก่าของโรงเรียนที่ประกอบอาชีพจากการจ้างงานตามมาตรา 35 โดยโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก และบกพร่องทางการเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ค้นพบความสนใจ ความถนัดในอาชีพของตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ทั้งในห้องเรียน และสถานประกอบการ โดยโรงเรียนได้เน้นให้นักเรียนได้ตระหนักรู้ในอาชีพ การเตรียมตัวด้านอาชีพ และสามารถปรับตัวกับอาชีพ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะอาชีพในการไปทำงานจากสถานประกอบการจริง

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมพบว่าโรงเรียนมีการวิเคราะห์เป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน ครู และผู้บริหาร อีกทั้งมีการประสานความร่วมมือการทำข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาการฝึกทักษะอาชีพที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและผู้ปกครอง มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งในการฝึกทักษะอาชีพและสถานที่ประกอบการ ส่งผลให้นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้น ม.6 สามารถประกอบอาชีพอิสระและในสถานประกอบการได้ ในวันนี้ได้เยี่ยมให้กำลังใจนักเรียน 2 คน ที่ทำงานโรงผักกางมุ้ง และร้านกาแฟปัญญาอาทร ทั้งสองคนทำงานที่รับผิดชอบอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านกีฬา จนมีนักเรียนที่ประสบผลสำเร็จด้านกีฬา เป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลยูนิฟายด์ เอเชียแปซิฟิก ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทอง ทั้งทีมชายและหญิง จำนวน 2 คน คือ นายณัฐวุฒิ จำนงค์เวช และเด็กหญิงต้นอ้อ ใจดี และยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ภาคีเครือข่าย อาทิ 1. มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ให้การสนับสนุนงบประมาณและความรู้ โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) กิจกรรม เกษตรมีชัย และธนาคารพัฒนาชุมชน 2. โครงการธนาคารโรงเรียน สนับสนุนโดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ 3. ศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียน สนับสนุนโดย พระราชวิสุทธิประชานาถ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ เป็นต้น

“สิ่งที่น่าชื่นชมและภาพความสำเร็จที่ได้เห็นจากการลงพื้นที่ครั้งนี้  ทั้งโรงพยาบาล ค่ายทหาร ศูนย์การศึกษาพิเศษ  หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและโรงเรียนมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มพัฒน่การของเด็ก ซึ่งจะเห็นว่าบุคลากรและเครือข่ายทำและขับเคลื่อนด้วยหัวใจนำทาง จนเด็กๆ และนักเรียนสามารถช่วยเหลือตนเอง สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข บางรายสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ มีงานทำ และได้รับการยอมรับจากสถานประกอบการในการจัดการศึกษา ด้านอาชีพ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานที่กำหนดและนักเรียนยังสามารถมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เทียบเท่าคนทั่วไป ซึ่งสามารถช่วจเหลือครอบครัว ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่งด้วย และยังเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติของบุคคลในสังคมให้เกิดการรับรู้และเห็นคุณค่าร่วมกันว่า บุคคลเหล่านี้มีศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว