สพฐ. ไม่ทิ้งเด็กป่วยรักษานานสร้างพัฒนาการเรียนรู้ คู่สุขภาพด้วยห้องเรียนข้างเตียงกับการศึกษาพิเศษ

วันที่ 21 เมษายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้เยี่ยมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อาคารสถาบัน ชั้น 12 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง รวมทั้งการทำงานบูรณาการในการจัดการศึกษาและการรับบริการในเด็กเจ็บป่วยระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ร่วมกันระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษและโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (ผอ.สศศ.) นายชูศักดิ์ ศิริเชียงพิณ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง รวมถึงผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบงานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลและคณะ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมห้องเรียนของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลฯ ในครั้งนี้  โดยมี พญ.นัยนา ณีศะนันท์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำภาพรวมและรศ.พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู ประธานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เล่าประวัติความเป็นมาและผลการดำเนินงานในภาพรวมทั่วประเทศของโครงการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลฯ และนางสาวสรัณยา ขำเจริญ ครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ ได้รายงานผลการดำเนินงาน ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง ให้รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะฯ ได้รับทราบอีกด้วย

สำหรับการให้บริการเด็กที่รับบริการภายในศูนย์เทคโนโลยีฯ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก 1) มูลนิธิสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน 2) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนด้านการคิดค้นสื่อ และวิทยากรในการอบรมครูเพื่อใช้สื่อเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน และมหาวิทยาลัย กระทรวง อว. 3) กรมการแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดหาสถานที่และงบประมาณ และ 4) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้สนับสนุนครูและงบประมาณ โดยมีการแบ่งกลุ่มการเรียนการสอนเป็น 2 แบบ คือ การจัดการเรียนการสอนแบบในหอผู้ป่วย (ข้างเตียง) และการจัดการเรียนการสอนในห้องศูนย์การเรียนฯ ซึ่งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) มีจำนวน 8 ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันประสาทวิทยา

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมศูนย์ฯ ในวันนี้ ขอชื่นชมและขอบคุณการทำงานร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายในพื้นที่ในการจัดการศึกษา และให้บริการทางการแพทย์ที่เข้มแข็ง ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนคือพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนที่ป่วยในโรงพยาบาลในศูนย์การเรียนฯ ก่อนที่จะเข้าสู่การเรียนการสอนต่อไปในระบบหรือ กศน. นอกจากนี้ขอขอบคุณและชื่นชม สศศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้สร้างโอกาสทางการศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้เรียนที่มารับบริการ และพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยมีการนำสื่อการเรียนรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีความหลากหลายทั้งในรูปแบบของสี่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล และคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นและเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข เป็นที่ประทับใจกับผู้ปกครองและโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก

“ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการวางระบบในการทำงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้บริการทางการศึกษากับผู้เรียนที่มารับบริการในศูนย์การเรียนฯ และให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างน้อย ร้อยละ 90 ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร เกี่ยวกับองค์ความรู้ที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์การเรียนฯ รวมทั้งแต่ละศูนย์ฯ ควรจัดทำแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นแบบอย่างให้ศูนย์ฯ อื่นๆ นำไปปฏิบัติได้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กอย่างเต็มที่ สศศ. ควรวางแนวทางความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับทางการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ครูได้มีวุฒิการศึกษาเพิ่มเติม เพราะการทำงานที่โรงพยาบาล การได้รับความรู้ทางการแพทย์ จากแพทย์และพยาบาลจากการปฏิบัติในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุนทั้งการรักษา รวมทั้งจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กมีพัฒนาการ มีความสุขกับกิจกรรม และมีพฤติกรรมที่พร้อมในการรักษา จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กได้รับอย่างต่อเนื่อง และคลายกังวลให้ผู้ปกครองที่ได้รับการดูแลทั้งรักษาและการศึกษาไปพร้อมๆกัน รวมทั้งส่งกลับเข้าการเรียนในระบบต่อไป จึงควรเป็นโอกาสในการเรียนรู้จากการทำงานนี้ ควรเป็นหลักสูตรเพิ่มวุฒิสำหรับครูผู้สอนในสังกัด สศศ. โดยบางส่วนเป็นการเรียนทฤษฎีในมหาวิทยาลัย และบางส่วนเป็นการฝึกประสบการณ์จากสถานที่จริง เพื่อให้ได้ครูที่พร้อมปฏิบัติงานด้วยทักษะและประสบการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และมีวุฒิเพิ่มเติมในความก้าวหน้าต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว