ผู้ปกครองซึ้งใจ ศูนย์การศึกษาพิเศษ สระบุรี เป็นที่พึ่ง สร้างพัฒนาการลูก จัดการตนเองได้

วันที่ 24 เมษายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และให้กำลังใจ ผู้บริหาร ครูและบุคลากร ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี ซึ่งจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทุกประเภท

สำหรับการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ  มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนรวม และโรงเรียนเฉพาะความพิการ โดยมีรูปแบบการให้บริการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) การให้บริการในศูนย์ฯ และ 2) การให้บริการนอกศูนย์ฯ โดยการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม แก่ผู้มารับบริการแบบไป-กลับ ในชั้นเรียน และหน่วยบริการประจำอำเภอ โดยจัดการเรียนการสอน ส่งเสริม ฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งนักเรียนภายในศูนย์ฯ  มีนักเรียนรับบริการ แบบไป-กลับ จำนวน 76 คน และนักเรียนภายในหน่วยบริการประจำอำเภอ  แบบไป-กลับ มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 118 คน พื้นที่ในการให้บริการ 13 อำเภอ มีหน่วยบริการที่เปิดบริการจำนวน 8 หน่วยบริการ ได้แก่ วิหารแดง แก่งคอย บ้านหมอ หนองแค, พระพุทธบาท, วังม่วง, มวกเหล็ก และหนองแซง ส่วนการให้บริการนอกศูนย์ฯ คือ การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มนักเรียนพิการ ได้แก่ นักเรียนที่รับบริการที่บ้าน ตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 86 คน นักเรียนพิการในห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลสระบุรี มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 64 คน และนักเรียนห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก โรงเรียนวัดไก่เส่า (พันธุ์พิทยาคาร) และโรงเรียนวัดโนนสภาราม (นารถ วาจาวุทธ อุปถัมภ์) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

ในส่วนของการให้บริการบำบัดฟื้นฟูผู้เรียน ทางศูนย์ฯ ได้จัดกลุ่มความต้องการจำเป็นพิเศษของนักเรียนพิการ โดยแบ่งการให้บริการนักเรียนพิการ ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1)การให้บริการโดยตรง (Direct Service) หมายถึง การบำบัดนักเรียนพิการรายบุคคลโดยนักสหวิชาชีพเป็นผู้ปฏิบัติเองร่วมกับครอบครัวและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนพิการ ติดตามผลการพัฒนานักเรียนพิการอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ เพื่อการให้บริการนักเรียนพิการกลุ่มมีปัญหา หรือนักเรียนที่มีความพิการระดับรุนแรง (กลุ่มวงใน) 2)การกำกับติดตาม (Monitoring Service) หมายถึง การออกแบบและการวางแผนการบำบัดแก่นักเรียนพิการโดยมีบุคลากรอื่นเป็นผู้ปฏิบัติตามแผนนั้น เช่น ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น พี่เลี้ยงเด็กพิการ ภายใต้การกำกับติดตามของนักสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อการให้บริการนักเรียนพิการกลุ่มเสี่ยง หรือนักเรียนที่มีความพิการระดับปานกลาง (กลุ่มวงกลาง) และ 3) การให้คำปรึกษา (Consultation Service) หมายถึง การที่นักสหวิชาชีพให้คำปรึกษา แก่ครอบครัว ครูประจำชั้น พี่เลี้ยงเด็กพิการ ผู้เกี่ยวข้องกับนักเรียนพิการ เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคนิค และการใช้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาและที่บ้านของนักเรียนพิการ เช่น การแนะนำในการจัดท่าทาง การปรับพฤติกรรมในชั้นเรียน เพื่อการให้บริการนักเรียนพิการกลุ่มปกติ หรือนักเรียนที่มีความพิการระดับน้อย (กลุ่มวงนอก)

นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมพัฒนาการโดยใช้การทำงานร่วมกันของนักสหวิชาชีพฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เรียน ให้คำแนะนำและส่งเสริมความรู้ ทั้งด้านการกายภาพบำบัด การใช้กิจกรรมบำบัด และการฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยนักจิตวิทยาคลินิก และแพทย์แผนไทย ให้กับผู้ปกครองในการบำบัดฟื้นฟู ในการให้บริการทางการศึกษาในพื้นที่ ร่วมกับผู้ปกครองชุมชน หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนในจังหวัดสระบุรี สร้างความร่วมมือในการทำงาน โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ เกิดจากการขับเคลื่อนนโยบายและนำไปปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดในจังหวัดสระบุรี ด้วยกลยุทธ์การบริหารแบบมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มตามศักยภาพ ลดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้แบบพึ่งพาตัวเองและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวภายหลังว่า รู้สึกชื่นชมที่ศูนย์ฯ เข้าถึงการสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้กับนักเรียนทุกที่ทั้งที่สามารถเดินทางมาได้ และทึ่เจ็บป่วยที่โรงพยาบาล หรือติดเตียงอยู่ที่บ้าน ทำให้รู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และความทุ่มเทของครูการศึกษาพิเศษ ความแตกต่างของความบกพร่องนักเรียน เป็นโจทย์ในการสร้างกิจกรรมที่แตกต่างกัน จึงเป็นความเชี่ยวชาญของครูที่ต้องร่วมกันเพื่อให้เห็นความสำเร็จที่ชื่นชมร่วมกันว่า นักเรียนทำได้แล้ว ซึ่งจากการลงพื้นที่ ได้ทราบจากผู้ปกครองของนักเรียนในศูนย์ โดยนางสุวารี ฟองศรี ผู้ปกครองของเด็กหญิงชุติกาญจน์ ฟองศรี  ได้เล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่บุตรจะมารับบริการกับศูนย์ฯ ได้ศึกษาที่โรงเรียนปกติมาก่อน โดยมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียน การอ่าน และการสื่อสาร จึงได้รับการแนะนำให้มารับบริการที่ศูนย์ฯ นี้  หลังจาก เข้ารับบริการ บุตรมีพัฒนาการดีขึ้นในเรื่องการสื่อสารและการเข้าสังคม โดยบุคลากรเอาใจใส่ และวางแผนเพื่อการส่งต่อบุตรกลับไปสู่โรงเรียนปกติเป็นอย่างดี”

นางสาวภจี ผึ่งแสง ผู้ปกครองของเด็กชายจิรายุ นิยะพัตร์ กล่าว่า “รู้สึกขอบคุณครูและบุคลากรของศูนย์ฯ ทุกท่านในการพัฒนาบุตร ให้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ เช่น สามารถรอคอยได้ในระยะเวลาที่กำหนด สามารถรับฟังคำสั่งและปฏิบัติตามได้ สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ ดีขึ้น”

นางขนิษฐา นัยทล ผู้ปกครองของเด็กชายบดินทร์ พรหมเอียด กล่าวอีกว่า “น้องปันปันมีพัฒนาที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยได้รับการดูแลจากผู้อำนวยการดรุณี มูลคำภา และคณะครูของศูนย์ฯ ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ หรือเรื่องการพัฒนาน้องปันปันและคุณภาพชีวิตของครอบครัว ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ในสังกัดของท่านด้วยดีตลอดมา”

ในการดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลที่ศูนย์ฯ มีการแบ่งชั้นเรียน และห้องเสริมประสบการณ์ที่ชัดเจน ครูและบุคลากรเอาใจใส่ เข้าใจนักเรียน มีการวางแผนการทำงานทุกขั้นตอน มีการปรับพฤติกรรมผู้เรียน และมีครูประกบนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงเป็นรายบุคคล ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรัก ความอบอุ่น และปลอดภัย สามารถส่งต่อทางการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด ซึ่งบรรยากาศของศูนย์ฯ ต้องขอชื่นชม ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี ที่ได้สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรในตำแหน่งต่างๆ ในการพัฒนา และผอ.สศศ ที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และใส่ใจในคุณภาพการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพและสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มีเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งได้อย่างชัดเจน

“ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ในการส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบเพื่อเป็นการสร้างความพร้อมของการอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่าง การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงต้องมีการพัฒนาระบบร่วมกัน ผ่านข้อมูลสารสนเทศ ร่วมกันพัฒนานักเรียนผ่านการจัดการเรียนรวมและการส่งเสริมครูและบุคลากรโรงเรียนเรียนรวมให้มีองค์ความรู้และเจตคติที่ดีในการพัฒนานักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ รวมถึงการส่งเสริมนักเรียนในห้องเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยรักษานานในโรงพยาบาล จะต้องมีการบริหารจัดการนักเรียนที่ออกจากระบบการรักษา สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภายหลังจากการรักษาได้ด้วยความสะดวก และมีการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมในแต่ละรายด้วยปัจจัยที่หลากหลาย ศูนย์การศึกษาพิเศษจะเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต และเป็นหน่วยดำเนินการในการส่งต่อทางการศึกษาและส่งเสริมด้านอาชีพโดยการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ และเก็บข้อมูลสถิติเชิงประสบการณ์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จะได้เป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ใด การศึกษาที่มีคุณภาพเหมาะสมกับบริบทของนักเรียนจะตามไปถึง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว