“สพฐ. พบ เขตพื้นที่สระบุรี เติมคุณภาพนักเรียนครบ สร้างโอกาสการเรียนรู้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

วันที่ 15 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ติดตามผลการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตั้งใหม่ ตามตัวชี้วัดนโยบายเร่งด่วน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Quick Policy : QP) รอบ 6 เดือน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสระบุรี (สพม.สระบุรี) โดยมี ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. ด้านการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส และคณะจาก สตผ. ผอ.สพป.สระบุรี เขต 1 และ 2 ร่วมติดตาม

.

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในการบริหารงานเพื่อพัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งเติมเต็มและต่อยอด สพท. พื้นที่ใกล้เคียง สร้างเครือข่ายเขตพื้นที่เข้มแข็ง และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ รับทราบปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะ โดยได้ฝากให้โรงเรียนและ สพท. ได้นำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้มาตรวจเยี่ยม ไปปรับใช้ ปรับปรุงหรือพัฒนา เพราะคำแนะนำเหล่านี้คือสิ่งที่ดี สิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาโดยภาพรวม เนื่องจากคณะกรรมการทุกท่านคือผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้มีประสบการณ์ ฉะนั้นสิ่งที่ทุกท่านได้แนะนำ และเราได้นำไปปรับใช้ จะสามารถสร้างประโยชน์และมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

.

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า คุณภาพของนักเรียนที่เกิดจากการพัฒนา ส่งเสริม เพื่อให้เกิดคุณภาพของนักเรียนรอบด้านเป็นสิ่งที่สำคัญและต้องสร้างให้เกิดจริงตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติ ทั้งองค์ความรู้ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และที่สำคัญสำหรับนักเรียนในปัจจุบันคือการสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดกับนักเรียนทุกคน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง จะช่วยให้เด็กได้รู้หน้าที่ตนเอง เคารพกติกาส่วนรวม อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เอื้ออาทรและเป็นสังคมแห่งการให้ สิ่งเหล่านี้เกิดได้จากการร่วมมือกันของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เด็กได้เห็นถึงคุณค่าของเรื่องราวในอดีต แล้วสร้างมูลค่าที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะเด็กไทย แล้วทำให้ทั่วโลกต้องหันมามองและชื่นชม  จากภูมิปัญญาทั้งด้านความคิด ศิลปะ วัฒนธรรมที่ดีงาม  จากปราชญ์ชุมชน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องการบ่มเพาะปลูกฝังให้เกิดคุณลักษณะเด็กนักเรียนของเรา แต่เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการที่จะเชื่อมโยงให้นักเรียนของเรา มีส่วนร่วมและเลือกที่จะเรียนรู้โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องเข้าใจ เข้าถึงแก่นแท้ของการจัดการเรียนรู้ ตามความชอบและสนใจ  จากความแตกต่างของพหุปัญญา เราต้องเข้าให้ถึงใจของนักเรียน เพื่อที่จะเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  ด้วยการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning  ผ่านแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  รู้และเข้าใจถึงการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ถือเป็นทางลัดในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนที่ดีมาก

.

“ทั้งนี้ การศึกษาช่วยเปลี่ยนชีวิตนักเรียนและคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้นได้ ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีที่สุดและเป็นเชิงประจักษ์ คือการให้โอกาส สร้างโอกาส และช่วยเหลือเด็กให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ จุดเริ่มต้นสำคัญ คือ การที่ครูได้ลงเยี่ยมบ้านนักเรียน สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการเติมสิ่งที่ขาด การเพิ่มความหวังและแสงสว่างในชีวิตของเด็กที่ต้องได้รับการดูแล จึงต้องขอบคุณผู้บริหาร ครูทุกท่าน รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้อุทิศแรงกายแรงใจและทุ่มเทเพื่อเด็กทุกคนด้วยความตั้งใจจริงตลอดมา เราจะร่วมกันเติมคุณภาพนักเรียน ตามนโยบายท่านอัมพร  พินะสา  เลขาธิการ กพฐ. ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยกันค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

.

จากนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย ผอ.สพป.สระบุรี เขต 1 และ 2 ได้เข้าพบเครือข่ายเพิ่มคุณภาพการศึกษา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดสระบุรี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้บริหารและบุคลากร สพป.สระบุรี เขต 1 พร้อมทั้งบันทึกเทป  YouTube Saraburi 1 Channel โดยมี ผอ.สระบุรี เขต 1 เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการเยี่ยมบ้านนักเรียน การใช้แหล่งเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายในห้องเรียนในรูปแบบ Active Learning และการพัฒนาการเรียนการสอนด้วย PLC หลังจากนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะทำงาน ได้เข้าประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ สพป.สระบุรี เขต 2 และให้ข้อแนะนำแนวทางการใช้ DLTV ให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย

.

“จากการลงพื้นที่วันนี้ ต้องขอขอบคุณเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งผู้บริหารบุคลากรและทีมงานทุกๆ ท่าน ที่แสดงออกถึงความตั้งใจ พร้อมใจร่วมกัน สร้างงานจากนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมทั้งมีการสื่อสารที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้บังคับบัญชาแต่เป็นผู้ที่ร่วมพาทำ และร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมชื่นชม รวมทั้งสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนได้มีโอกาสทำงานอย่างเต็มที่ โดยเห็นความสำคัญของการพัฒนานักเรียนเป็นสำคัญ ในนามของ สพฐ. ต้องทำให้การขับเคลื่อนต่างๆ ที่พื้นที่ลงสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งเขตพื้นที่นี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการสื่อสาร จากการสะท้อนผลของผู้บริหารเขตพื้นที่ ถึงแม้ว่ามีโรงเรียนจำนวนมากที่จะต้องดูแลและอยู่ห่างไกลไม่สามารถเดินทางไปได้ครบแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาที่จำกัด แต่วิธีการที่สื่อสารได้อย่างทั่วถึงชัดเจนผ่านเทคโนโลยี และไม่เป็นภาระให้กับครูและโรงเรียนรวมทั้งให้ความสำคัญกับห้องเรียนและนักเรียนที่จะได้รับการเติมเต็มและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เต็มเวลา”  รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว