“ตรีนุช” พร้อม สพฐ. เยี่ยมสนามสอบครูผู้ช่วย ย้ำโปร่งใสตรวจสอบได้ ออกข้อสอบตอบโจทย์บริบทพื้นที่

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2566 ณ สนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการจัดสอบและมาตรการด้านความปลอดภัยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ และผู้บริหารของ สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบด้วย

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบฯครูผู้ช่วย ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีในวันนี้ พบว่าสามารถจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยสนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เป็นการสอบของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีผู้มีสิทธิ์สอบ 1,689 คน ใน 15 กลุ่มวิชา และ 68 ห้องสอบ ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสายตาเลือนลาง จำนวน 2 ราย ผู้พิการทางสายตาจำนวน 1 ราย ผู้พิการทางร่างกายจำนวน 4 ราย และผู้พิการทางการได้ยินจำนวน 49 ราย ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการคุมสอบ คอยดูแลช่วยเหลือเพื่อให้สามารถทำการสอบได้อย่างลุล่วง

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2566 ในภาพรวมทั้งประเทศนั้น ทาง สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่ง สพฐ. กำหนดจัดสอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2566 พร้อมกันทั่วประเทศในเขตพื้นที่การศึกษา 205 แห่ง โดยมีผู้มีสิทธิสอบรวมทั้งสิ้น จำนวน 169,595 คน ในจำนวน 63 กลุ่มวิชา มีตำแหน่งว่าง 7,813 อัตรา มีจำนวนสนามสอบทั่วประเทศ 262 สนาม และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา / อ.ก.ค.ศ. สศศ. ที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. สศศ. จำนวน 4,793 ราย 2. สพป. สระแก้ว เขต 1 จำนวน 3,162 ราย 3. สพป. สงขลา เขต 3 จำนวน 3,019 ราย 4. สพป. สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 2,916 ราย และ สพม. นนทบุรี จำนวน 2,892 ราย ส่วนกลุ่มวิชาหรือสาขาวิชาเอกที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา จำนวน 21,525 ราย 2. สังคมศึกษา จำนวน 19,757 ราย 3. ภาษาอังกฤษ จำนวน 16,719 ราย 4. คณิตศาสตร์ จำนวน 16,116 ราย และ 5. พลศึกษา จำนวน 15,773 ราย ขณะที่กลุ่มวิชาหรือสาขาวิชาเอกที่ไม่มีผู้สมัครสอบ ได้แก่ ภาษาอังกฤษธุรกิจ และอรรถบำบัด

“ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ สพฐ. ดำเนินการจัดสอบด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบการรายงานปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ โดยขอให้การสอบครูผู้ช่วยปี 2566 เป็นไปด้วยความโปร่งใสยุติธรรมและตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ครูที่เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ขณะที่ในส่วนของการออกข้อสอบ ตนได้ย้ำว่าการออกข้อสอบจะต้องตอบโจทย์บริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องมีความยืดหยุ่นต้องไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป และทุกมหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบออกข้อสอบจะต้องจัดทำข้อสอบเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้วัดคนที่จะมาเป็นครูจะต้องเน้นการแก้ปัญหาหรือทักษะเฉพาะหน้าให้มากขึ้นไม่ใช่เน้นการสอบด้านเนื้อหาวิชาการอย่างเดียว ซึ่งข้อสอบถือเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อที่จะได้ครูตรงกับความต้องการต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับสนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เราให้ความสำคัญกับผู้เข้าสอบที่มีความพิการเป็นพิเศษ โดยผู้เข้าสอบที่สายตาเลือนลาง ได้ให้ผู้ทดสอบบางรายอ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบเองโดยใช้แว่นขยาย ส่วนผู้พิการทางสายตาได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่อ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบให้ ด้านผู้พิการทางร่างกายให้ผู้เข้าสอบอ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบเอง และผู้พิการทางการได้ยิน ให้ผู้เข้าสอบอ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบเอง โดยจัดให้มีคณะกรรมการคุมสอบที่เป็นล่ามภาษามือขณะประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียด ในส่วนของสนามสอบอื่นๆ นั้น ทราบว่าสามารถจัดสอบด้วยความเรียบร้อย ยังไม่พบปัญหาใดๆ ซึ่งทาง สพฐ. ได้เน้นย้ำให้จัดการสอบด้วยความโปร่งใสยุติธรรม ตรวจสอบได้ ตามนโยบายของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่ได้เน้นย้ำเรื่องนี้มาโดยตลอด

“ทั้งนี้ หลังจากการสอบในวันนี้เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก และภาค ข เพื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 โดยประเมินจากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมผลงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน และประกาศผลการแข่งขัน ตามวันและเวลาที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สศศ. กำหนด ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว