สพฐ. ลงนามบันทึกข้อตกลง รร.คุณภาพประจำตำบล เพิ่มเติม 3 องค์กร พร้อมประชุมสรุปผลการเตรียมความพร้อม ระยะที่ 2

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมปฏิบัติการสรุปผลการเตรียมความพร้อมโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ระยะที่ 2 พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เพิ่มเติม ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

โดยมี พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารของ สพฐ. และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี
โครงการโรงเรียนคุณภาพประจําตําบลเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบาย “1 ตําบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” เป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจําตําบล ภายใต้แนวคิด “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีความพร้อมในการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชน บ้าน วัด รัฐ โรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ

ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยการพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นชอบผ่านกระบวนการประชาคม 3 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 6,843 โรงเรียน ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่มีความพร้อมเข้ารับการพัฒนา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน การคมนาคมและการสื่อสารสะดวก มีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนนักเรียนได้ในอนาคต ตลอดจนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนที่ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน เพื่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและการบริหารการจัดการโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยการพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นชอบผ่านกระบวนการประชาคมระดับอำเภอและรายงานระดับจังหวัด มีจำนวนทั้งสิ้น 1,140 โรงเรียน รวมทั้งสิ้นมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 7,983 โรงเรียน
ในอนาคตโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลจะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ได้รับความรู้กระบวนการและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในส่วนของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ก็จะมีความพร้อมทั้งสมรรถนะ ศักยภาพ และความสามารถในการบริหาร การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนจะกลายเป็นต้นแบบโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน และเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน ทุกภาคส่วนให้การยอมรับ เชื่อมั่น และศรัทธาต่อคุณภาพของโรงเรียน ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตลอดจนมีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาประเทศ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานของประเทศไทยให้มีความมั่นคงที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้าน พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. ได้กล่าวว่า สำหรับภาพอนาคตของโครงการโรงเรียนคุณภาพประจําตําบลที่เราจะพัฒนาร่วมกัน คือ เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีความเข้มแข็งด้านวิชาการ สมรรถนะสำคัญ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดนตรี กีฬา ศิลปะ และจิตสาธารณะ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพร้อมทางด้านกายภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุครุภัณฑ์ มีความสะอาดร่มรื่นปลอดภัย เป็นโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาพื้นฐานด้านอาชีพ และการเป็นโรงเรียนของชุมชนที่มีความร่วมมือกับท้องถิ่นในการให้บริการโรงเรียนเครือข่ายและชุมชนอย่างเข้มแข็ง

สำหรับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การดำเนินโครงการบรรลุตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายและการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งจากเดิม 7 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันนี้ได้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มขึ้น 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยแต่ละหน่วยงานจะมีบทบาทหน้าที่ตามภารกิจและความรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดความเข้มแข็งและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

“เนื่องจากโรงเรียนเป็นองค์กรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน แนวคิดในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนจึงมีความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบท โรงเรียนที่ได้รับ

การคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลจึงเปรียบเสมือนการได้รับโอกาสการยกย่องเชิดชูเกียรติยศและความรุ่งโรจน์ ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาให้เป็นหนึ่งในระดับตำบลมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการให้บริการทางการศึกษาตามนโยบาย 1 ตําบล 1 โรงเรียนคุณภาพ

โดยจะได้รับการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารการจัดการสถานศึกษาของภาคีเครือข่าย ที่เปรียบเสมือนดาว 5 ดวงซึ่งเป็นตัวแทนของเอกชน บ้าน วัด รัฐ โรงเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาประเทศ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานของประเทศไทยให้มีความมั่นคงเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” รมช.ศธ. กล่าว

ภาพ/ข่าว : อัจฉรา ปชส.สพฐ.