สพฐ. ชูเรียนรวมต้นแบบ สร้างสังคมการแบ่งปันสู่ผู้เรียน

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมให้กำลังใจและมอบแนวทางการปฏิบัติสู่เป้าหมายเพื่อลงสู่ผู้เรียน ให้คณะทำงานและผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดบทเรียนการจัดการเรียนรวมโครงการบูรณาการความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรวม ณ โรงแรมรอยัลฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.นครนายก โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจาก 18 Cluster (Cluster ละ 12 คน) ได้แก่ 1) ผอ.เขต สพป./สพม. 2) ผอ.รร.เรียนรวม สพป./สพม. 3) ศึกษานิเทศก์ สพป./สพม. 4) ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 5) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ 6) ครู รร. เรียนรวม สพป./สพม. 7) ครูศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 216 คน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนการจัดการเรียนรวม และถอดบทเรียนการจัดการเรียนรวมที่จะนำไปสู่การสังเคราะห์แนวทางการจัดการที่มีคุณภาพต่อไป พร้อมทั้งหาแนวทางในการลดภาระงานของครูที่ดูแลนักเรียนพิเศษและมอบหมายบทบาทหน้าที่ของครูพี่เลี้ยงให้ตรงตามเป้าหมายของการจัดสรร เพื่อให้ครูพี่เลี้ยงสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลและพัฒนานักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ ในส่วนของการขอคูปองการศึกษา (เงินสนับสนุนขอรับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นๆ ทางการศึกษา) ให้ตรงกับการพัฒนานักเรียนพิเศษ และศูนย์การศึกษาพิเศษต้องเป็นผู้ประสานงานกับโรงเรียนเรียนรวมในการจัดการเรียนรวมในรูปแบบต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน รวมถึงมีการวัดและประเมินผลด้วยความยืดหยุ่นเหมาะสมกับตัวผู้เรียน ผู้บริหารในโรงเรียนควรมีการวางแผนกระบวนการดำเนินงานใน ว PA เพื่อนำไปสู่การเลื่อนวิทยฐานะของครูบนพัฒนาการของนักเรียนไปด้วยเลย

นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา โดยทำให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ศูนย์การศึกษาพิเศษมีบทบาทหน้าที่ที่หลากหลาย มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานการจัดการเรียนรวมในโรงเรียนปกติ โดยผู้บริหารสถานศึกษาคือฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาเพราะต้องเป็นผู้ที่นำคิด พานำ พาทำ ผู้บริหารยุคใหม่ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ ต้องศึกษาพัฒนาให้รู้จริง สามารถแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องได้ อธิบายให้ความรู้อย่างชัดเจน และต้องสร้างเครือข่ายให้หลากหลาย ทั้งชุมชน ผู้ปกครอง วัดและหน่วยงานจากภายนอก เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนในทุก ๆ ช่องทาง ทุก ๆ มิติ

“การสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดขึ้น คือ ‘การสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน’ ทั้งนี้ ขอชื่นชม ครู ผอ.รร. ทุกๆ ท่าน ที่ให้เด็กมากกว่าการศึกษา ให้โอกาส ให้ความรัก ให้ความหวังกับผู้ปกครอง โดยมีแรงขับที่สำคัญคือความรัก ความสามัคคีกัน ในการพัฒนาเด็กให้ก้าวข้ามความเป็นเด็กพิเศษ นำไปสู่การใช้ชีวิตตามปกติในสังคมได้อย่างมีความปกติสุขต่อไป ในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบดูแล สศศ. ได้ตั้งใจมุ่งมั่นว่า “จะช่วยเหลือเด็ก จนไม่มีเด็กให้ช่วยเหลือ” และตามคำขวัญของพวกเราชาว สศศ. ที่ว่า “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว