วันที่ 4 กรกฏาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมสื่อสารสร้างความเข้าใจการนำตัวชี้วัดองค์รวม และตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อยสู่การปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่ และระดับสถานศึกษา จัดโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักทดสอบทางการศึกษา และหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. มีผู้เข้าร่วมประชุมและเสวนาในการสร้างความเข้าใจ ประกอบด้วย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณะกรรมการ กพฐ. นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สวก. รก.ทปษ.สพฐ. นางสาวชยพร กระต่ายทอง รอง ผอ.สวก. นางสาวจรูญศรี แจบไธสง นางสาวณัฐา เพชรธนู รอง ผอ.สทศ. และนายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผอ.กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สวก. โดยมีนายสมเจตน์ พันธ์พรม ศึกษานิเทศก์ หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้เข้าร่วมรับฟังทุกสังกัด กว่า 120,000 คน ผ่านทางช่องทาง Facebook OBEC Channel และ Youtube OBEC Channel 2
การประชุมในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแนวทางในการนำตัวชี้วัดที่ผ่านการแยกประเภทแบบรวมกับย่อย ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ โดยได้นำเสนอให้เห็นสภาพปัจจุบันของการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งมีตัวชี้วัดจำนวนมาก 2,056 ตัวชี้วัด และยังมีความซ้ำซ้อนในการนำไปใช้ลงสู่การปฏิบัติ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการนำไปออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผล จึงได้มีการดำเนินการโดยการพิจารณาจัดประเภทตัวชี้วัดจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วนำไปสู่การพิจารณาจากคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นชอบการคัดสรรและการจัดกลุ่มตัวชี้วัด ซึ่งกลุ่มตัวชี้วัดที่สำคัญใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และวัดประเมินผลแบบองค์รวม จำนวน 771 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อย จำนวน 1,285 ตัวชี้วัด ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และดูผลการพัฒนาของผู้เรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นสำคัญ
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การจัดกลุ่มแบ่งประเภทตัวชี้วัดจะทำให้การนำไปใช้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยแบ่งออกเป็น ตัวชี้วัดองค์รวม 771 ตัวชี้วัด ซึ่งในการวัดและประเมินผลจะมีการจัดกิจกรรมหรือทักษะของพฤติกรรมที่มีตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อย จำนวน 1,285 ตัวชี้วัด อยู่แล้ว จึงทำให้ง่ายและไม่เป็นภาระสำหรับการนำไปใช้ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในเรื่องของชิ้นงาน ใบงาน จะใช้เพียงตัวชี้วัดองค์รวม ส่วนตัวชี้วัดย่อยใช้ในการจัดกิจกรรมหรือทักษะต่างๆ ซึ่งไม่ยึดโยงกับห้วงของเวลา หรือลำดับในการบรรลุก่อนหลังของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งการวัดและประเมินผล 771 ตัวชี้วัดนั้น ไม่จำเป็นต้องเน้นการวัดแบบเป็นทางการ เช่น แบบทดสอบ หรือแบบวัดต่างๆ แต่จะต้องมีการวัดที่หลากหลาย สามารถแสดงหลักฐาน หรือปรากฏหลักฐานการวัดได้ และที่สำคัญ ทำให้ง่ายต่อการนำไปบูรณาการทั้งในกลุ่มสาระฯ หรือข้ามกลุ่มสาระฯ ในแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน เพื่อใช้ภาระงานหรือชิ้นงานที่ไม่มีจำนวนมากแต่สามารถวัดผลฯ นักเรียนได้ครอบคลุม ทั้งตัวชี้วัดแบบองค์รวม และองค์ประกอบย่อย ซึ่งไปปรากฏในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
นอกจากนั้น การจัดกลุ่มประเภทตัวชี้วัดในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้มีความชัดเจนในการวัดและประเมินผล ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด อาทิ ตัวชี้วัดองค์รวม “เขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ” ที่นักเรียนต้องผ่านการวัดผลนั้น จะต้องเกิดจากการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมผ่านตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อย ทั้งตัวชี้วัดการคัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด ตัวชี้วัดการบอกและเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเลขไทย ตัวชี้วัดการเขียนสะกดคำและบอกความหมายของคำ ตัวชี้วัดการมีมารยาทในการเขียน ซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่เมื่อผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้วสิ่งที่ต้องการวัดนักเรียน คือการเขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ จึงเป็นการวัดด้วยชิ้นงานเดียว แล้วครอบคลุมบรรลุตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวชี้วัด ซึ่งทำให้เรารู้ว่า นักเรียนเรียนรู้อะไร และทำอะไรได้ รวมถึงเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายและปฏิบัติด้วยตัวเองได้
“ทั้งนี้ ตัวชี้วัดยังคงเดิม เพียงแต่เน้น 771 องค์รวม เพื่อใช้วัดผลประเมินผล ส่วน 1,285 ย่อยใช้จัดกิจกรรมเสริมทักษะ เพื่อให้เกิดรวมแล้ววัดผล เพื่อลดภาระของทุกตัวชี้วัดต้องมีร่องรอยหลักฐานการเก็บคะแนน เพียงแต่เป็นการส่งเสริมจัดกิจกรรมแล้วเกิดตัวชี้วัดองค์รวมซึ่งง่ายต่อการทำใบงาน ซึ่งจะลดภาระครูที่ไม่ต้องวัดผลทุกตัวชี้วัด แต่ใช้การจัดกิจกรรมหรือทักษะ และเน้นย้ำองค์รวมเพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่บรรลุตามมาตรฐานตัวชี้วัด และส่งผลให้ง่ายต่อการบูรณาการหลายวิชา โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา และเกิดคุณลักษณะและมีสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตร ฯ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงนักเรียนจะมีเวลาในการ Create จึงขอให้ผู้บริหารและศึกษานิเทศก์ ได้สร้างความเข้าใจ และร่วมคิดพาครูทำให้เห็นจริงถึงการปฏิบัติ เป็นพี่เลี้ยงครูอย่างกัลยาณมิตร เพื่อให้ครูมีความสุขในการออกแบบการเรียนรู้ และมีเวลาเติมเต็มนักเรียนให้ถึงพร้อมศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนมีเวลาเหลือในการพัฒนาตนเองตามความชอบ ความถนัด และความสนใจของตนเอง บรรลุผลตาม KPI ของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ทั้งด้านวิชาการ ดนตรี กีฬา ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 36/2567 - 10 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุมคณะทำงานบริหารจัดการโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี - 9 กันยายน 2024
- สพฐ. หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กับคณะผู้บริหารธนาคารออมสิน - 9 กันยายน 2024