การประชุมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) ของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี

ในวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2561 นายภิรมย์ จีนธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยกาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 ร่วมประชุมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) ของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยประชุมระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะการดำเนินงานในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2562 และการเสนอโครงการในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2563 ดังนี้

กลุ่มที่ 1 การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้ชายแดน) และแนวคิดโครงการ

กลุ่มที่ 2 การส่งเสริมเวทีประชาคมเพื่อการจัดทำรูปแบบและพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

กลุ่มที่ 3 การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โดยมีพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาลและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวมอบนโยบายและจุดเน้นการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  ณ ห้องน้ำพราว โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีผู้บริหาร ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมประชุม  โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

ในห้วงเวลาต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กระทรวงศึกษาธิการมีงานสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับทิศทางและพัฒนาประเทศในบริบทและมิติต่างๆ เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี 2580 คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งถ่ายโยงเป็นแผนแม่บทภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ อันมีเป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุ 20 ปี โดยแบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องนำ  Flagship project  ในส่วนที่เกี่ยวข้องมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ทั้งนี้ ยังเชื่อมโยงสู่แผนพัฒนาภาคและการศึกษาระดับภาคด้วย

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคและมุ่งบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาภาคใน 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ที่ส่งผลต่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งแต่ละภาคมีทิศทางสำคัญต่างกันไป

ในส่วนของภาคใต้ชายแดน มีจุดเน้นเชิงเป้าหมาย คือ เป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์  ดังนั้น การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยกรอบแนวทางการดำเนินงาน แนวคิดโครงการสำคัญในทิศทางเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาภาคของประเทศอย่างแท้จริง  โดยเริ่มครั้งแรกในภาคใต้ชายแดน  ซึ่งมียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาจุดเน้นเชิงพัฒนา 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่  ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อความมั่นคงให้กับภาคการผลิต  ยุทธศาสตร์เมืองสุไหง โก-ลก และเมืองเบตงให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ฯลฯ