สพฐ. เปิดเทคนิคการสื่อสาร มิติใหม่ ประทับใจทีมดูงาน มรภ.พระนคร ต้นทางงานคุณภาพสู่ 2 หมื่นกว่า โรงเรียน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดคลังความรู้สู่การปฏิบัติ ของ สพฐ. ให้กับ ดร.จอมสุรางค์ ลิมป์ประเสริฐกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และอาจารย์พงศ์พีระ ชูพรมแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.พระนคร พร้อมด้วยคณะนักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในกิจกรรมการศึกษาดูงานด้านการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา การผลิตสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา และการผลิตสื่ออื่นๆ ณ สถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel ซึ่งมีนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. พร้อมคณะทำงาน สทร. ทีม OBEC Channel และทีมศูนย์สารนิเทศฯ ร่วมให้การความรู้สู่การปฏิบัติแบบมืออาชีพ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ และห้องอากาศของ สพฐ.

สำหรับการศึกษาดูงานในครั้งนี้ วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้เข้าศึกษาดูงาน สถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel โดยคณะศึกษาดูงานประกอบด้วยอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ชั้นปีที่ 2 และ 3 จำนวน 31 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาดูงาน กระบวนการในการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา และการผลิตสื่ออื่นๆ สำหรับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน รวมถึงกระบวนการในการผลิตสื่อประเภทภาพเคลื่อนไหว (Animation) ซึ่งกลุ่มโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน สทร. และศูนย์สารนิเทศฯ สำนักอำนวยการ ได้เตรียมงานสำหรับการนำเสนอกับคณะศึกษาดูงานในประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งพาชมห้องสตูดิโอ OBEC Channel โดยมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนอธิบายรูปแบบการทำงาน ตลอดจนพาชมการบูรณาการระบบประชุมทางไกล การส่งคอมเมนต์เพื่อสื่อสารสองทางระหว่างผู้ชมรายการกับผู้จัดรายการสดที่ห้องสตูดิโอ และส่งสัญญาณการออกอากาศผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ช่อง DLTV15 และถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตช่องทางออนไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel ทั้งช่องทาง Youtube, Facebook และเว็บไซต์ www.obectv.tv

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและขอขอบคุณที่ได้ได้สร้างโอกาสและถ่ายทอดความมืออาชีพของทีมงาน OBEC และเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มความรู้สู่การปฏิบัติกับครูในอนาคต ทั้งอาจารย์และคณะนักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3 จากวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่ได้มาฝึกปฏิบัติที่สถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel ในวันนี้ ซึ่งรูปแบบการทำงานของสถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel และงานประชาสัมพันธ์ของ สพฐ. ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้เชื่อมโยงให้เห็นถึงการสร้างคุณภาพการจัดการศึกษา และงานการขยายผลเครือข่ายที่ดีมีคุณภาพกับระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นการนำการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning มาต่อยอดการบูรณาการฯ โดย สพฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ ได้สร้างต้นแบบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ผ่านบุคลากร นำไปสู่สมรรถนะของนักศึกษาที่จะเป็นครูในอนาคต ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยจะมีสื่อคุณภาพที่ผลิตโดยฝีมือนักศึกษา รวมทั้งในอนาคต สพฐ จะได้ครูที่พร้อมสำหรับการผลิตสื่อที่เข้าถึงใจนักเรียน ทำให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ผ่านทักษะ เทคนิคมืออาชีพ ผู้ปฏิบัติจริง ในการทำและเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์ OBEC Channel ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 5,000 กว่าตอน มีผู้ติดตามช่องทาง YouTube ประมาณ 250,000 คน และ Facebook ประมาณ 340,000 คน และสถิติการรับชมในช่องทาง YouTube ประมาณ 10 ล้านวิว แสดงถึงความสำเร็จในการดำเนินงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของ สพฐ. ให้สาธารณชนรับรู้ได้เป็นอย่างดี

 ในการศึกษาดูงานครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับคณาจารย์และนักศึกษาอย่างมาก  โดย ดร.จอมสุรางค์ ลิมป์ประเสริฐกุล ได้กล่าวว่า “เป็นประสบการณ์ที่นักศึกษาได้รับโดยตรง ซึ่งนักศึกษาจะสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอนาคตต่อไปขอขอบพระคุณ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. และทีมงานทุกท่านที่ให้การต้อนรับ และให้โอกาส นักศึกษาได้มาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในวันนี้” อีกทั้ง ตัวแทนนักศึกษา น.ส.วิราวรรณ ชีพจำเป็น นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และน.ส.พิมพลอย เป็งสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่3 “รู้สึกตื่นเต้น ที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ได้เห็นเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย และเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน และการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการศึกษาให้มีคุณภาพต่อไป”

“ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะศึกษาดูงานที่มาจากวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จะสามารถค้นพบสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ในการนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการศึกษาและกระบวนการผลิตสื่อประเภทภาพเคลื่อนไหว (Animation) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนหรืองานด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต สุดท้ายนี้ ขอให้ทั้งอาจารย์ผู้สอนและคณะนักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อย่างไมตรีจิต เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรผู้ที่จะขับเคลื่อนยกระดับการศึกษาของชาติต่อไป และขอบคุณทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำให้ทีม OBEC Channel และทีมประชาสัมพันธ์ ของ สพฐ. ได้มีเวทีคุณภาพในการภาคภูมิใจในงานที่ปฏิบัติและเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการสร้างคุณภาพต่อไปให้ เขตพื้นที่ โรงเรียน คุณครู และความสำเร็จที่คุณภาพนักเรียน ของ สพฐ ต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว