รมว.ศธ. ชื่นชม สพฐ. ร่วมมือ สอวน. จัดค่ายโอลิมปิกวิชาการ ปั้นเด็กไทยมุ่งไกลระดับโลก

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ต้อนรับคณะนักเรียนและครูผู้สอนจากโครงการศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการค่าย 1 สอวน. ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ในโอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้ให้โอวาทและแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นางอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (ศบศ.) และผู้บริหารของ สอวน. นำโดย รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. และคณะฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่วันนี้ได้มาพบน้องๆ นักเรียนคนเก่งที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ ในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ที่ได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพ และทักษะของนักเรียนจนสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ จะเห็นได้ว่าทุกคนทุกฝ่ายล้วนมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน หรือการสนับสนุนจากผู้ปกครอง รวมทั้งความร่วมมือด้านวิชาการระหว่าง สพฐ. และ สอวน. ที่ได้ร่วมกันจัดโครงการที่ดีเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าว ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ดำเนินโครงการศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการค่าย 1 สอวน. โดยการสอบคัดเลือกนักเรียนจากทั่วทุกภูมิภาค เข้ารับการอบรม ค่าย 1 สอวน. ณ ศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 137 ศูนย์ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะนักเรียนผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้มีความรู้ความสามารถเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล โดยนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย 1 จำนวน 35-70 คน ตามสาขาวิชา จะเข้ารับการอบรม จำนวน 15 วันต่อเนื่อง เมื่อผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าอบรมค่าย 2 จำนวน 20-25 คน ตามสาขาวิชา จะต้องเข้ารับการอบรมจำนวน 10-15 วันต่อเนื่อง และจะเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นผู้แทนไปแข่งขันระดับชาติ จำนวนสาขาวิชาละ 6 คน จากนั้นจะคัดเลือกเหลือ 4-6 คน เข้ารับการอบรมเข้มข้น เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทย ไปแข่งขันระหว่างประเทศต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีนักเรียนสอบผ่านเข้าค่าย 1 สอวน. จากทั่วทุกภูมิภาค ทุกขนาด โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบและถิ่นทุรกันดารก็สามารถสอบผ่านการคัดเลือก ค่าย 1 ได้มากขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการลดความเหลื่อมล้ำในด้านการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และผลการแข่งขันของนักเรียนผู้แทนประเทศไทยในสาขาวิชาทั้ง 11 สาขา มีดังนี้

1. วิชาชีววิทยาโอลิมปิก (IBO) ได้ 4 เหรียญเงิน

2. วิชาคณิตศาสตร์โอลิมปิก (IMO) ได้ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง และ 1 เกียรติคุณประกาศ

3. วิชาฟิสิกส์โอลิมปิก (IPhO) ได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง

4. วิชาเคมีโอลิมปิก (IChO) ได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง

5. วิชาภาษาศาสตร์โอลิมปิก (IOL) ได้ 1 เหรียญเงิน และ รางวัลชมเชย ประเภททีม

6. วิชาภูมิศาสตร์โอลิมปิก (iGeo) ได้ 1 เหรียญทอง ลำดับที่ 1 ของโลก 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง

7. วิชาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก ได้ 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง

8. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิก (IESO) ได้ 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 1 รางวัลชมเชยระดับดี

9. วิชาคอมพิวเตอร์โอลิมปิก (IOI) ได้ 2 เหรียญทองแดง และ 2 เกียรติบัตรเข้าร่วมการแข่งขัน

10. วิชาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IOAA-jr) ได้ 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และได้รับรางวัล Absolute Winner ซึ่งเป็นรางวัลคะแนนสูงสุดของโลก

11. วิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IJSO) กำหนดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2566 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าว ยังต้องรอผลการแข่งขัน

“จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ. และ สอวน. ได้ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาทักษะนักเรียนผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้มีความรู้ความสามารถเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล จนสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีระดับโลกและคว้ารางวัลอันน่าภาคภูมิใจกลับมาได้ อีกทั้งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกไม่ได้มีเพียงนักเรียนจากโรงเรียนขนาดใหญ่เท่านั้น แต่นักเรียนจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบและถิ่นทุรกันดารก็สามารถสอบผ่านการคัดเลือกได้ แสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพสามารถเพิ่มศักยภาพของนักเรียนได้แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงตามเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนที่กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด ทั้งนี้ สพฐ. และ สอวน. จะร่วมกันเดินหน้าพัฒนาผู้เรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต่อไป เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว