สพฐ. เยี่ยมศูนย์ศึกษาพิเศษ สุราษฎร์ฯ ชื่นชมสวัสดิการครูดี นักเรียนอยู่ที่ไหนก็ตามไปพัฒนา

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมให้กำลังใจครูที่พักอาศัยในหอพักศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงกลางคืน โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เพื่อรู้ความเป็นอยู่ในสภาพจริง เตรียมพร้อมข้อมูลเรื่องสวัสดิการของครู ตามนโยบาย รมว.ศธ. และรองรับข้อสั่งการเลขาฯ กพฐ. เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเห็นผลจริง

สำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทุกประเภท ระดับเตรียมความพร้อม ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 19 อำเภอ ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 360 คน และมีผู้บริหาร รวมถึงครูและบุคลากร รวม 105 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 41 คน พนักงานราชการ 10 คน ครูอัตราจ้าง 6 คน พี่เลี้ยงเด็กพิการ 44  คน คนครัว 1 คน นักการภารโรง 1 คน แม่บ้าน 1 คน และยาม 1 คน โดยมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และเตรียมความพร้อมของคนพิการ เพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนรวม และโรงเรียนเฉพาะความพิการ มีรูปแบบการให้บริการใน 2 ลักษณะ ดังนี้

1) การให้บริการในศูนย์ฯ :

การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม แก่ผู้มารับบริการแบบไป-กลับ ในชั้นเรียน และหน่วยบริการประจำอำเภอ โดยจัดการเรียนการสอน ส่งเสริม ฟื้นฟูสมรรถภาพ และเตรียมความพร้อมจำนวน 62 คน โดยแบ่งเป็นห้องเรียน ได้แก่ ห้องเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลออทิสติก จำนวน 5 ห้องเรียน ห้องเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ จำนวน 1 ห้องเรียน และห้องเรียนเสริมพัฒนาการ ได้แก่ ห้องฝึกพูด ห้องกายภาพบำบัด ห้องกิจกรรมบำบัด ห้องกระตุ้นประสาทสัมผัส เป็นต้น ทั้งนี้ นักเรียนภายในหน่วยบริการประจำอำเภอ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แบบไป-กลับ มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 112 คน มีพื้นที่ในการให้บริการ 19 อำเภอ มีหน่วยบริการที่เปิดบริการจำนวน 11 หน่วยบริการ ได้แก่ หน่วยบริการบ้านนาเดิม เวียงสระ พระแสง ชัยบุรี  เคียนซา ไชยา ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม พุนพิน พนม และบ้านตาขุน

2) การให้บริการนอกศูนย์ฯ :

การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มนักเรียนพิการ ได้แก่ นักเรียนพิการที่รับบริการที่บ้าน ตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 186 คน นักเรียนพิการในห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 57 คน และนักเรียนห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก โรงเรียนบ้านบางใหญ่ และโรงเรียนวัดท่าไทร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมให้กำลังใจครูที่พักอาศัยในหอพักครูของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า หอพักตั้งบริเวณติดกับอาคาร ไม่เปลี่ยว ปลอดภัย และอยู่กันแบบพี่น้อง เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน และครูสะดวกในการเดินทางมาทำงาน รวมถึงสภาพหอพัก และห้องพักอาศัยของครู เป็นสัดส่วน แต่ละชั้นจะแบ่งออกชัดเจน ลักษณะเป็นห้องชุด มีห้องนอนส่วนตัว 2 ห้อง ซึ่งมีห้องน้ำและห้องเตรียมอาหารใช้รวมกัน และสามารถอยู่เป็นครอบครัวได้ด้วย จากการสังเกตและพูดคุยกับครู ครูมีความสุขและพอใจกับความเป็นอยู่ในหอพัก

“ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้ครูและบุคลากรได้พักอาศัยอย่างปลอดภัย มีความสุข ส่งผลให้สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากการที่วันนี้ได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่ไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ฯได้ แต่ครูที่ศูนย์ฯก็ออกไปพัฒนาพัฒนาการนักเรียนแบบคุ้นเคยกับผู้ปกครอง สร้างความซึ้งใจให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ต้องขอชื่นชมผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ทำให้ครอบครัวศูนย์การศึกษาพิเศษฯ แห่งนี้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยให้ความสำคัญกับการดูแล เอาใจใส่ความเป็นอยู่ของครู จัดสวัสดิการที่ดีให้กับครู สอดรับกับนโยบายของ รมว. ศธ. ในเรื่อง “การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งเมื่อครูมีความสุข ก็จะทุ่มเทในการสอนอย่างเต็มที่ให้กับนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยเช่นกัน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

จากนั้น ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้เยี่ยมนักเรียนพัฒนาการช้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี “บ้านอยู่ที่ไหนก็จะไปพัฒนานักเรียน” โดยนักเรียนอายุ 6 ปี มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ใช้ภาษาในการสื่อสารได้บ้างเล็กน้อย จากการสอบถามผู้ปกครองนักเรียนเคยเข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนวัดกลางใหม่ แต่นักเรียนไม่สามารถนั่งทำกิจกรรมในห้องเรียน ไม่สามารถพูดบอกความต้องการหรือสื่อสารกับผู้อื่นได้เหมือนนักเรียนปกติ จึงแนะนำให้มาเตรียมความพร้อมที่ศูนย์ฯ ก่อน เพื่อปรับพฤติกรรมและให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง

ทั้งนี้ เป้าหมายในการเตรียมความพร้อมส่งต่อ ผู้ปกครองมีความประสงค์ให้นักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษา สังกัด สพฐ. ที่โรงเรียนวัดกลางใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน โดยสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจัดกิจกรรมที่จะพัฒนาให้เด็กกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด จากนั้นส่งต่อเคสให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ โดยมี 4 ส่วนร่วมใจ ได้แก่ สพฐ. ส่วนกลาง, สศศ., คณะอนุกรรมการเด็กไทยใฝ่ดี และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะร่วมกันดูแลให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม พร้อมเติบโตจนสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข