เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดย ฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ฝ่ายวุฒิสภา (กมธ.) นำโดย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยรองประธานคณะกรรมาธิการ และกรรมาธิการ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรหลักและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้นำเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ที่สอนให้เด็กมีความรู้ทางวิชาการ ร่วมคิดร่วมจินตนาการ เน้นคุณธรรมจริยธรรม มีความกตัญญู รวมทั้งมีวิชาชีพ มีรายได้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน ช่วยแก้ความยากจนให้ครอบครัว ชุมชน จึงขอฝากให้ ศธ.นำหลักการของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง เรียนเป็นเล่น เล่นเป็นเรียน เรียนให้สนุก ซึ่งถือเป็นหัวใจของคนไทย และการปลูกฝังเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยบูรณาการกับนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ บนพื้นฐานของความพร้อมและความสมัครใจจากโรงเรียน เด็ก ครู ผู้บริหาร และผู้นำชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมในการปรับกระบวนทัศน์ทั้งในส่วนของครูผู้สอน และนักเรียน ที่เป็นผู้เรียน การทำงานร่วมกันของเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา และงบประมาณสำหรับตั้งกองทุนสนับสนุนการประกอบกิจการและสร้างอาชีพให้กับเด็ก
รมว.ศธ. กล่าวแสดงความขอบคุณที่ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ ของวุฒิสภา ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา ทั้งยังเล็งเห็นว่านโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ช่วยพัฒนากำลังคนสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ถือเป็นแนวทางที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายโรงเรียนคุณภาพของ ศธ. ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ กล้าคิดกล้าจินตนาการ ทั้งยังส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ความกตัญญู และสร้างวิชาชีพให้กับเด็กตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน ต่อยอดสู่การลดปัญหาความยากจนในครัวเรือนและชุมชนด้วย
“ผมมีความตั้งใจจะไปเยี่ยมโรงเรียนมีชัยพัฒนาอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนต้นแบบ ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำมาปรับใช้กับโรงเรียนตามบริบทและความพร้อมในแต่ละพื้นที่ สอดคล้องกับข้อเสนอของ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ ในครั้งนี้ ที่ต้องการให้ ศธ.สนับสนุนแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีชัยพัฒนาไปยังโรงเรียนต่าง ๆ มากขึ้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน เพราะรูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับหลายโรงเรียน แต่จะดูบริบทของแต่ละโรงเรียนเป็นหลัก ทั้งในเชิงพื้นที่และวัฒนธรรม .โดย ศธ.พร้อมที่จะร่วมดำเนินการกับหน่วยงานหลักที่ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ในรูปแบบขององค์ประกอบการทำงานร่วมกัน” รมว.ศธ.กล่าว
ขอขอบคุณ ข้อมูล/ภาพ : ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.
- สพฐ. ร่วมกิจกรรม “รื่นรมย์ สมฤดี 132 ปี กระทรวงศึกษาธิการ” (24 ตุลาคม 2567) - 24 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช พุทธศักราช 2567 - 23 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันปิยมหาราช พุทธศักราช 2567 - 23 ตุลาคม 2024