รองเลขาธิการ กพฐ. “เกศทิพย์” ร่วมงานแถลงข่าว การจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางพุทธชาต ทองกร รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 (The 20th International Junior Science Olympiad) เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เลขาธิการมูลนิธิ สอวน.) รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม และ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมกับ มูลนิธิ สอวน. จะดำเนินการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2566 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดฯ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

“นับเป็นโอกาสอันดีที่ ศธ. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ให้แผ่ไพศาล พร้อมประกาศศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในหลาย ๆ มิติ ทั้งในเรื่องบุคลากรทางวิชาการที่จะมาดำเนินการจัดการแข่งขัน บุคลากรทางด้านวิชาการที่จะมาเป็นคณะกรรมการออกข้อสอบ และสถานที่จัดการสอบทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สถานที่ที่จะใช้ต้อนรับนักเรียนจากทั่วโลกมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างดีที่สุด”

เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่องค์การยูเนสโก ได้ประกาศยกย่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม พระเกียรติคุณขจรขยายไปทั่วสากลประเทศ เพื่อสืบสานพระปณิธานในการสร้างประโยชน์ด้านการศึกษา มูลนิธิ สอวน. จึงได้ร่วมกับ ศธ. และ มศว จัดการแข่งขันฯ ขึ้นเพื่อให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา อายุไม่เกิน 15 ปี จาก 55 ประเทศทั่วโลกแสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งนักเรียนและผู้ฝึกสอนรวมทั้งสิ้น 550 คน

“พระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนานักเรียนที่เก่งในระดับมัธยมศึกษาอย่างต่อเนื่อง งานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้ครูและเยาวชนของประเทศไทยได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการแข่งขันทางวิชาการระดับโลก นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูและเยาวชนจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้เยาวชนของประเทศไทยมีความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และได้มีโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศต่อไป”

รองอธิการบดีฝ่ายแผนฯ มศว กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันฯ ว่า มศว ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีในทุกด้าน ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ และด้านสถานที่ โดยได้เชื่อมโยงงบประมาณของรัฐดำเนินการจัดงาน มีการจัดสถานที่ อุปกรณ์ รวมถึงห้องที่ใช้แข่งขันฯ ส่วนความพร้อมของข้อสอบ มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ หลังจากที่ดำเนินการแข่งขันเรียบร้อยแล้ว จะเชิญนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ร่วมกิจกรรมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ ถือว่าเป็น Soft Skill ในการสร้าง Soft Power เผยแพร่วัฒนธรรมไทย เพื่อผ่อนคลายความกดดันหรือความเครียดจากการแข่งขัน ใช้ดนตรี กีฬา ศิลปะเป็นสื่อ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็ก ๆ เหล่านี้ กลับไปแล้วจะเชิญชวนครอบครัวหรือคนในประเทศมาเที่ยวประเทศไทยต่อไป

รศ.เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการมูลนิธิ สอวน. กล่าวเสริมว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้แข่งเฉพาะนักเรียนกับนักเรียน อาจารย์ก็ต้องแข่งกันด้วย ผู้ที่จะไปเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความรู้ความสามารถที่จะต่อรองหรือชี้แจงถึงผลคะแนนประเมินกับคู่แข่งได้ เพราะถือเป็นเวทีที่ทั้งนักเรียนและครูที่ต้องแสดงความสามารถให้เห็นเด่นชัดจนเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

ขอขอบคุณ ภาพ/ข้อมูล เพจ ศธ.360 องศา