รมช.ศธ. มอบนโยบายการศึกษา เขตพื้นที่ขอนแก่น พร้อมเยี่ยมโรงเรียนชมการจัดการศึกษา “เรียนดี มีคุณภาพ”

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ร่วมประชุม ได้แก่ นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนพ ชีวานันท์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี  ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และนายศรายุทธ ธิศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมหลวงพ่อสายทอง เตชธมฺโม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 จ.ขอนแก่น

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า ในวันนี้ได้มาพบปะผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และได้มอบนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้ให้ไว้ในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา เนื่องจากท่านเป็นห่วงความปลอดภัยของนักเรียนและครู ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอาคารหรือสถานที่ แต่ยังมีเรื่องความปลอดภัยที่มาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเองหรือแม้แต่ปัญหายาเสพติด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในเรื่องของอาคารสถานที่ท่าน รมว.ศธ. ก็ได้สั่งการให้ผู้บริหารเขตพื้นที่และผู้บริหารสถานศึกษา ได้สำรวจอาคารหรืออุปกรณ์ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนทั้งในเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้าง เรื่องอุปกรณ์สายไฟฟ้าต่างๆ ก็ให้มีการประสานกับท้องถิ่นหรือโยธาธิการจังหวัดในการเข้ามาช่วยดูเรื่องโครงสร้างต่างๆ หากโรงเรียนไหนมีปัญหาเหล่านั้นก็ให้รีบแจ้งไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะนำงบประมาณมาช่วยเหลือ

ส่วนเรื่องภัยคุกคามเด็กนักเรียนนั้น คุณครูทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาและมีการประสานงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือว่าฝ่ายปกครอง ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการประสานงานเรื่องความปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ รวมถึงเรื่องยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้าต่างๆ ทาง รมว.ศธ. ก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงขอให้คุณครูและทางโรงเรียนช่วยกันดูแล้วก็ประสานงานมา ซึ่งตอนนี้ รมว.ศธ. ก็ได้ประสานงานกับ รมว.มหาดไทย ด้วยว่าขอให้ทางอำเภอช่วยดูโรงเรียนหรือบางโรงเรียนที่อาจจะเกิดเหตุขึ้น โดยให้ฝ่ายปกครองเข้ามาช่วยดูกันอีกที  ส่วนเรื่องการดูแลความปลอดภัย การตรวจคนเข้า-ออกสถานศึกษานั้น ก็ได้กำชับเรื่องบริเวณโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย คุณครูเองก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาและสังเกตรั้วรอบขอบชิด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเรียนต้องเข้มงวดในการตรวจคนเข้า-ออก และถ้าเห็นอะไรที่ผิดปกติก็ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที ตอนนี้ก็ได้มอบนโยบายให้เขตพื้นที่ทุกเขตต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับผู้อำนวยการสถานศึกษา สถานีตำรวจใกล้เคียง ที่สามารถจะเข้ามาช่วยเหลือได้  เพราะคุณครูเองก็จะทำได้แค่คอยเฝ้าระวังแล้วก็แจ้งเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งบางทีก็เกิดขึ้นโดยที่เราก็ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีสภาพจิตที่ไม่ปกติหรือบางคนอาจจะมีเรื่องยาเสพติดที่มีผลกับสภาพจิตใจของเขา แน่นอนว่าโรงเรียนก็ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะคุณครูทุกท่านที่ต้องช่วยกันดูแล

สำหรับในเรื่องของบุคคลภายนอกที่มาจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน ก็ได้มีการกำชับว่า บุคคลใดที่จะมาขอใช้พื้นที่ในโรงเรียนจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ต้องขออนุญาตผู้อำนวยการสถานศึกษาก่อนทุกครั้ง หากเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องไม่อนุญาต โดยเฉพาะที่มีเรื่องเครื่องดื่มมึนเมาหรือกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องกีฬาหรือเกี่ยวกับชุมชนที่มีประโยชน์ต่อนักเรียน ก็จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้อำนวยการสถานศึกษาในการอนุญาตใช้สถานที่ ส่วนเรื่องที่มีการใช้กิจกรรมใบงานมาเพื่อธุรกิจประกันภัยตรงนี้ตนได้เน้นย้ำว่าจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกผู้อำนวยการเองก็เข้าไปตรวจสอบว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงไหม หากเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่าง จึงขอฝากทุกโรงเรียนให้พิจารณาอย่างละเอียด เพราะรูปแบบการรักษาข้อมูลเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีกำชับตลอดทุกกระทรวงว่าการเก็บข้อมูลของหน่วยงานราชการ จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการโดนขโมยข้อมูลหรือในเรื่องใดๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคอยเฝ้าระวังและต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลอย่างมาก

“ทั้งนี้ ในเรื่องนโยบายการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนต่างๆ ก็ได้พูดถึงเรื่องของการจัดอบรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผ่นดินไหวหรือภัยธรรมชาติ ที่ต้องชื่นชมโรงเรียนในหลายๆ พื้นที่ ที่น้องๆ มีการฝึกมุดเข้าใต้โต๊ะกันทันที แต่มีบางโรงเรียนที่น้องๆ บางคนยังสับสนอยู่ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนควรมีการฝึกอบรมไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว เรื่องอัคคีภัยหรือวาตภัยต่างๆ การฝึกซ้อมอบรมการป้องกันภัยและการหลีกภัยเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่โรงเรียนจะต้องทำ ซึ่งทาง สพฐ. เองก็จะต้องกำชับในเรื่องนี้อีกครั้ง และอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องมีการอบรมเพิ่มเติม คือภัยคุกคามจากด้านนอกจากคนแปลกหน้าอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้เพิ่มเติมแล้วก็เป็นหลักสูตรเพิ่มเข้าไปด้วย” รมช.ศธ. กล่าว

จากนั้น รมช.ศธ. พร้อมคณะทำงาน และผู้บริหารการศึกษา ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเดินทางไปที่โรงเรียนสนามบิน (สพป.ขอนแก่น เขต 1) เพื่อติดตามการจัดการศึกษาตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทั้ง 4 ด้าน คือ ให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดีของประเทศ สนองจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” จากนั้นได้เดินทางไปที่โรงเรียนชุมชนชุมแพ (สพป.ขอนแก่น เขต 5) เพื่อเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย โดยมีนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active learning ที่หลากหลาย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย และนำนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ลงสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และสุดท้ายคือโรงเรียนบ้านป่ากล้วย (สพป.ขอนแก่น เขต 5) ได้ไปเยี่ยมชมจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนขยายโอกาส โดยโรงเรียนบ้านป่ากล้วย จัดการเรียนการสอน ที่โดดเด่นในเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดรายได้และเกิดทักษะทางอาชีพ โดยโรงเรียนได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากเขตพื้นที่ โดยจัดทำ mou ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย เยอรมัน ชุมแพ จีเทค จัดฝึกอบรมทักษะอาชีพให้กับนักเรียนชั้น ม.1-3 ส่งผลให้นักเรียนนำทักษะที่ได้รับมาบูรณาการกับรายวิชาคอมพิวเตอร์ เช่น เกิดทักษะการขายออนไลน์ การตัดต่อภาพยนต์ การซ่อมเครื่องยนต์ เป็นต้น