เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ย้ำสถานศึกษาเฝ้าระวัง ฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิดถึงต้นปีหน้า เปิด-ปิดเรียนได้หากกระทบสุขภาพ ชื่นชมสอนนักเรียนลดฝุ่น รักษ์โลก

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อยู่ในระดับเริ่มวิกฤต คุกคามสุขภาพประชาชน และมีแนวโน้มปริมาณเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ โดยกรมควบคุมมลพิษ เตือนให้เฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นจากความกดอากาศต่ำกดทับ อย่างน้อยถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2566 จากนั้นสัปดาห์หน้าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างน้อยถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า นั้น

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศเน้นย้ำไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ให้ดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ได้ประกาศไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 โดยให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว

สำหรับมาตรการเร่งด่วน ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะมีการระบุระดับคุณภาพอากาศในพื้นที่ เป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้แก่

1. พื้นที่โซนสีฟ้า สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ

2. พื้นที่โซนสีเขียว สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ยกเว้น นักเรียนที่ป่วยด้วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ให้ลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร

3. พื้นที่โซนสีเหลือง ให้ทุกคนลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร และนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ ให้งดกิจกรรมนอกอาคาร

4. พื้นที่โซนสีส้ม จัดว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ เด็กเล็กงดกิจกรรมนอกอาคารเรียนและให้เรียนในห้องเรียนปลอดฝุ่น

5. พื้นที่โซนสีแดง ให้ทุกคนอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกอาคาร ให้ครูหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของนักเรียน เช่น เคืองตา คันตา ตาแดง การหายใจ หอบหืด หากมีอาการให้ปรึกษาแพทย์ในทันที และให้อำนาจผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณา เปิด – ปิดสถานศึกษาได้ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับมาตรการระยะยาว มีแนวทางปฏิบัติ ให้หน่วยงานลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น ให้มีการซ่อมบำรุงยานพาหนะ จัดการพื้นที่สีเขียว เพิ่มพันธุ์ไม้ฟอกอากาศ ส่งเสริมการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อควรปฏิบัติเพื่อลดโลกร้อน ในทุกระดับชั้น

“การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการศึกษาต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากเด็กและเยาวชนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วย ซึ่งเมื่อมาดูมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของกระทรวงศึกษาธิการ จะเห็นว่ามีทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว จึงขอให้ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษาทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณาดำเนินการตามมาตรการให้เหมาะสม ทันท่วงที และขอชื่นชมหลายๆ โรงเรียน ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น มีกิจกรรมวิถีใหม่ในโรงเรียน บ่มเพาะพฤติกรรมดีๆ ให้นักเรียนได้เป็นพลังในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่เราทุกคน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว