สพฐ. แจงไม่ได้ทอดทิ้งโรงเรียนประถมในจังหวัดนครพนม ชี้เขตพื้นที่ส่งครู-ธุรการช่วย พร้อมจัดงบประมาณเป็นไปตามเกณฑ์

วันที่ 26 มกราคม 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม มีครูผู้ช่วย 1 คน ต้องสอนเด็กทุกชั้น และได้งบประมาณไม่เพียงพอ โดยจากการตรวจสอบพบว่า การนำเสนอข่าวที่ออกไปนั้นมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ที่อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนและมองว่าหน่วยงานต้นสังกัดไม่ได้ให้ความสำคัญต่อโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งนักเรียนทุกคนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันทุกคน ซึ่ง สพฐ. เองไม่ได้ทอดทิ้งโรงเรียนให้อยู่ตามลำพัง ตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด

.

นายธีร์ กล่าวว่า โดยข้อเท็จจริง คือ โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึง ป.6 จำนวน 19 คน และมีบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน ข้าราชการครูตำแหน่งครูผู้ช่วย 1 คน พนักงานราชการตำแหน่งครูผู้สอน 2 คน และธุรการโรงเรียน 1 คน ซึ่งตามเกณฑ์อัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับสถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 40 คน สามารถมีตำแหน่งครูได้ 1-4 คน ซึ่งที่ผ่านมาทางเขตพื้นที่ฯ ได้มีการพูดคุยกับทางโรงเรียนและชุมชน ในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก อาทิ การยุบหรือควบรวม หรือเรียนรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ทางชุมชนไม่ต้องการให้ยุบรวม ต้องการให้ยังคงอยู่เป็นสถานศึกษาต่อไป ทางเขตพื้นที่ฯ จึงได้สนับสนุนโดยการจัดสรรพนักงานราชการตำแหน่งครูผู้สอน จำนวน 2 อัตรา เข้ามาช่วยสอนนักเรียนด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ในการช่วยจัดการเรียนการสอน โดยได้รับจัดสรรอุปกรณ์ DLTV ในปี 2557 เป็นโทรทัศน์ 32 นิ้ว จำนวน 6 เครื่อง ในปี 2566 เป็นโทรทัศน์ 43 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง และขอรับจัดสรรอุปกรณ์ DLTV ในปี 2568 จำนวน 3 ชุด เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ครบชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงโรงเรียนที่ปรากฏในข่าวเท่านั้น แต่ได้ให้การสนับสนุนทุกโรงเรียนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน และมีการตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

.

ในส่วนของการนำเสนอข่าวที่บอกว่าโรงเรียนแห่งนี้ ได้รับงบประมาณ จำนวน 30,000 บาท/ปีนั้น ขอเรียนว่า ในการจัดสรรงบประมาณงบอุดหนุนรายหัวนักเรียน มีเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เหมือนกันหมดทุกแห่ง โดยเพิ่มขึ้นทุกปี คือ ในระดับก่อนประถมศึกษา เดิมหัวละ 2,630 บาท ในปี 2566 ได้เพิ่มเป็น 2,787 บาท ปี 2567 เพิ่มเป็น 2,915 บาท ในระดับประถมศึกษา เดิมหัวละ 3,130 บาท ในปี 2566 ได้เพิ่มเป็น 3,267 บาท ปี 2567 เพิ่มเป็น 3,410 บาท ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  เดิมหัวละ 5,250 บาท ในปี 2566 ได้เพิ่มเป็น 5,487 บาท ปี 2567 เพิ่มเป็น 5,750 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เดิมหัวละ 5,710 บาท ในปี 2566 ได้เพิ่มเป็น 5,915 บาท และปี 2567 เพิ่มเป็น 6,200 บาท ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้

“ดังนั้น โรงเรียนดังกล่าวจึงมีอัตรากำลังครูเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ทาง สพป.นครพนม เขต 1 เห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้มีการควบรวม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) และเลขาธิการ กพฐ. (ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ จึงได้จัดให้มีพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน ไปช่วยทำการสอนอีก 2 อัตรา เพื่อให้สอนเด็กได้ครบชั้น และธุรการ จำนวน 1 อัตรา มาช่วยดูแลในเรื่องงานธุรการต่างๆ ของโรงเรียน ส่วนงบประมาณก็เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรร ตามจำนวนนักเรียนที่มีในแต่ละปี ซึ่งหลังจากนี้ทาง สพป.นครพนม เขต 1 จะดำเนินการให้ข้อมูลกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจที่ตรงกันต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว