สพฐ. ห่วงใยนักเรียนถูกลงโทษเกินกว่าเหตุ เร่งสอบครู พร้อมเยียวยาจิตใจนักเรียน

วันที่ 26 มกราคม 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ โดยการนำเข็มกลัดขนาดเล็กไปใกล้บริเวณริมฝีปากของนักเรียน ทำให้บางคนได้ถูกเข็มกลัดสัมผัสที่บริเวณริมฝีปากทำให้เกิดบาดแผลขนาดเล็ก นั้น

.

นายธีร์ กล่าวว่า เมื่อทราบประเด็นที่เกิดขึ้น เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. นำโดยนายตฤณ ก้านดอกไม้ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สมุทรปราการ เขต 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทางโรงเรียนได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวในช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2567 และได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าเหตุการณ์นั้นมีมูลความจริง จึงได้เร่งดำเนินการติดต่อประสานงานกับทางผู้ปกครองของนักเรียนระดับชั้นดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจ ขอโทษผู้ปกครอง และจะดำเนินการเยียวยาต่อไปตามลำดับ พร้อมกันนั้น สพป.สมุทรปราการ​ เขต​ 1 ได้มีคำสั่งย้ายครูคนดังกล่าวไปช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่แล้ว และจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป โดยการสอบสวนจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขอให้ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น อาการบาดเจ็บของนักเรียนและอื่นๆ หากตรวจสอบแล้วพบว่าครูมีเจตนาไม่เหมาะสม ก็จะต้องมีการลงโทษทางวินัยตามขั้นตอน แต่หากไม่ได้มีเจตนาไม่ดี เพียงแต่กระทำการไม่เหมาะสม ก็ต้องให้ความรู้ ต้องมีการชี้แนะ ให้โอกาส หากยังไม่ปรับพฤติกรรม ก็ต้องบริหารจัดการตามสมควร

.

พร้อมกันนั้น ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ได้แจ้งนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่ฯ ร่วมกับครูประจำชั้น เข้าไปพูดคุยกับนักเรียน ประเมินสภาพจิตใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้นักเรียน โดยมอบหมายครูประจำชั้น ทำการติดตาม เฝ้าระวังพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และรายงานความคืบหน้าของพฤติกรรมนักเรียน แจ้งต่อ สพฐ. เป็นระยะ พร้อมทั้งได้มีการประชุมคณะครูเพื่อทบทวนการลงโทษนักเรียน การควบคุมความประพฤติของนักเรียน และข้อห้ามการลงโทษนักเรียน ส่วนการจัดการเรียนการสอน ให้ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมอย่างหลากหลายเสริมสร้างทักษะชีวิตนักเรียน และกำชับให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการ 3 ป. ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม โดยทุกโรงเรียนต้องดำเนินการตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รวมถึงวางมาตรการเชิงรุกกรณีนักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยคำนึงถึงบริบทที่เหมาะสมกับมาตรการด้วย

.

“ต้องเน้นย้ำตรงนี้ว่า ในการทำโทษนักเรียน ครูต้องเข้าใจว่า เด็กอายุ 0-18 ปี ยังเป็นผู้ใหญ่ไม่เต็มวัย ดังนั้นโอกาสที่จะทำผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ต้องให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมโรงเรียน หากเด็กทำผิดพลาดก็ต้องประคองให้ลุกขึ้น แล้วเดินใหม่ ซึ่งครูส่วนใหญ่เข้าใจ แต่อาจยังมีบางส่วนที่ต้องเติมความรู้เข้าไปเพิ่ม ซึ่ง สพฐ.อยู่ระหว่างการปรับแนวทางการเรียนรู้ และการดูแลนักเรียนอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ รมว.ศธ. (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) และเลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยนักเรียนในทุกระดับ จึงได้กำชับเขตพื้นที่ฯและโรงเรียนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยต้องดูแลความปลอดภัยของนักเรียนทั้งร่างกายและจิตใจ โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อุ่นใจว่าบุตรหลานมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว