สพฐ. ลงพื้นที่ประสานเครือข่ายแก้ปัญหาความรุนแรงของนักเรียน

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและมอบนโยบาย การสร้างความเข้าใจ เรื่อง การจัดการศึกษาเรียนรวม และการปฏิบัติที่ถูกต้องของการร่วมกันของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน และการนำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปภาพรวมการดำเนินงาน โดยเน้นบทบาทการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในโรงเรียนเรียนรวม ตามองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ นักเรียน สภาพแวดล้อม กิจกรรมการเรียนการสอน และเครื่องมือ รวมถึงการส่งต่อข้อมูลแบบต่อเนื่อง และได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดมหาสารคาม โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลจำปาศรี จังหวัดมหาสารคาม ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 300 ยูสเซอร์ และมีผู้เข้าชมถ่ายทอดสดจากทั่วประเทศผ่าน Youtube Live มากกว่า 600 แอคเคานต์

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งเรามีการจัดการศึกษาเรียนรวมระหว่างเด็กปกติและเด็กพิเศษ ถือเป็นความรับผิดชอบของผอ.เขตพื้นที่ฯ ในการให้ความสำคัญ และดูแลเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงต้องเพิ่มเติมความรู้ให้ครูพี่เลี้ยงในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ด้วย โดยทุกวันนี้สังคมให้ความสำคัญกับเด็กพิเศษมากขึ้น เราจึงต้องดูแลจัดการเรียนรู้ให้เขาอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ อีกทั้ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ก็มีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงได้สั่งการให้ สพฐ. มีการจัดระบบในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างกัน เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งต้องขอบคุณโรงเรียนและเขตพื้นที่ฯ ทุกแห่งที่จัดการเรียนรวม ที่สามารถดำเนินการมาได้เป็นอย่างดี และที่ผ่านมาเราทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ตรงไหนที่บกพร่องก็ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ให้นักเรียนทุกคน “เรียนดี มีความสุข” ในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า วันนี้ตนได้ลงพื้นที่โรงเรียนในจังหวัดมหาสารคามที่ปรากฏในข่าวว่ามีเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาเรียนรวม โดยได้เข้าไปพูดคุยร่วมวางบทบาทผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้สอนและครูพี่เลี้ยง รวมถึงผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ได้ให้แนวทางในการปฏิบัติ การสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน การร่วมใจกันดูแลนักเรียนและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง สร้างพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งให้นักเรียนทุกคนมีความสุขเมื่ออยู่โรงเรียน และได้นำข้อห่วงใยของท่าน รมช. รมช. และ เลขาฯ กพฐ. ซึ่งให้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เน้นย้ำไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต จากนั้นจึงได้มาประชุมร่วมกับผอ.เขตพื้นที่ทั่วประเทศและผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด โดยเน้นย้ำให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” เพราะการเรียนรวมเป็นการศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) ตอบสนองความหลากหลายของเด็กที่มีความแตกต่างกัน เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษได้เรียนในโรงเรียนรวมกับเด็กปกติ ให้พวกเขาได้รับการศึกษาที่เหมาะสม มีการจัดแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หรือแผน IEP การวัดและประเมินผลตามระดับความสามารถของแต่ละบุคคล ขณะเดียวกันในปัจจุบันสถิตินักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมากที่สุดคือ บกพร่องทางการเรียนรู้ ในเบื้องต้นขอให้ครูทำการช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงก่อน โดยรูปแบบการช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ระยะ หากช่วยเหลือแล้ว แก้ไขไม่ได้ จึงค่อยให้ส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ นักสหวิชาชีพ หรือแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยต่อไป นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงการบูรณาการการทำงานภายใต้บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ครู พี่เลี้ยงเด็กพิการ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับนักเรียนทุกคนในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองด้วย

“สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือผู้บริหารโรงเรียนต้องเข้าใจธรรมชาติของนักเรียนทุกกลุ่ม โดยไม่มีอคติและไม่ตีตราเด็ก และพาคิด พาทำ อย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของพวกเขา โดยมีศูนย์การศึกษาพิเศษของแต่ละจังหวัด รวมถึงศึกษานิเทศก์มาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยดูแลให้คำแนะนำเมื่อโรงเรียนต้องการความช่วยเหลือ ทั้งการจัดการเรียนการสอนหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อดึงศักยภาพให้เด็กกลุ่มนี้สามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือสามารถหาเครือข่ายเข้ามาช่วยในการพัฒนาได้ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ปกครองในการสังเกตและช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ของบุตรหลาน ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งระบบ เป็นการสร้างสังคมของการให้และเป็นสังคมที่ดีต่อคนทุกกลุ่ม ทำให้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เกิดขึ้นได้จริงเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขณะที่ นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สศศ. ได้กล่าวถึงเอกสารแนวทางการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับสถานศึกษา และแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อความล้มเหลวทางการเรียน ที่ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และศูนย์การศึกษาพิเศษ นำไปใช้เป็นแนวทางการจัดการศึกษาเรียนรวม การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเรียนรวมในจังหวัดผ่านทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาคนพิการจังหวัดและภาคีเครือข่ายในจังหวัด พร้อมสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดทำ IEP online เพื่อให้เด็กได้รับคูปองทางการศึกษาครบทุกคน รวมถึงการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการในการพัฒนาการจัดการศึกษาเรียนรวม นอกจากนี้ ยังมี รศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล ผู้ทรงคุณวุฒิประจำภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้บรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พร้อมทั้งตัวแทนศึกษานิเทศก์ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนการจัดศึกษาเรียนรวม จำนวน 3 เขต ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี อีกด้วย