สพฐ. ร่วมทีม ศธ. เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทั้งระบบ

วันที่ 15 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการแถลงข่าว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าร่วมรับฟังการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานงานต่างๆ รวม 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารออมสินในฐานะสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสมาคมธนาคารไทย รายงานแนวทางและผลการดำเนินงานแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลากรภาครัฐตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ในโอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. ว่า สพฐ. มีกลไกการดำเนินงานโดยการจัดตั้งสถานีแก้ไขปัญหาหนี้สิน ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 สถานี กระจายทั่วประเทศ ดำเนินการรับลงทะเบียน และดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักการ ดังนี้ 1) เจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ 2) ขยายเวลาการชำระหนี้ 3) ควบคุมยอดหนี้ให้สามารถผ่อนชำระได้และมีรายได้ต่อเดือนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 4) การผ่อนชำระหนี้เงินกู้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าทุนเรือนหุ้น 5) การรวมหนี้ 6) การพัฒนาทักษะด้านการเงิน และ 7) การจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การไม่ก่อหนี้เพิ่มเติม ไม่ก่อหนี้เกินศักยภาพ ทั้งนี้ สพฐ. ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ กำกับติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับกำชับการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบํานาญข้าราชการเพื่อชําระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

นอกจากนั้น สพฐ. ยังได้ดำเนินการยกระดับความรู้ และทักษะการแก้ปัญหาหนี้สิน ของสถานีแก้หนี้ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วย อาทิ ด้านการบริหารงานการเงินโดยโค้ชหนุ่ม Money Coach ด้านกฎหมายโดยอัยการอาวุโสจากสำนักงานอัยการสูงสุด ด้านการดำเนินงานของสหกรณ์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ด้านโปรแกรมบริหารจัดการหนี้สินโดยอัยการอาวุโส อดีตรองอัยการสูงสุด ด้านบริหารงานโดยคณะกรรมการกำกับการแก้ปัญหาหนี้สินรายย่อย และด้านช่องทางและแนวทางแก้หนี้ โดยหมอหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น พร้อมทั้งประสานความร่วมมือ ช่วยเหลือ และเป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานแก้ปัญหาหนี้สินในพื้นที่ ได้แก่ 1) อัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 2 ) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นนายอำเภอในพื้นที่ 3) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่ และ 4) สหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ อีกทั้งมีการพัฒนาอย่างเข้มเพื่อสร้าง OBEC Money Coach จำนวน 490 คน ให้มีความสามารถเป็นผู้นำในการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้สิน ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้สถานีแก้หนี้ละ 2 คน ทั้ง 245 สถานี โดย สพฐ. ได้กำกับ ติดตาม ประสานงาน และแก้ปัญหาร่วมกับสถานีแก้หนี้อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาบรรลุตามวัตถุประสงค์และนโยบายของรัฐบาล สพฐ. ได้มีข้อเสนอ ดังนี้ 1) ขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ทุกราย เก็บหนี้จากเงินเดือนร้อยละ 70 ที่มีเท่านั้น เหลือเงินเดือนร้อยละ 30 ไว้ให้ใช้ในการดำเนินชีวิต 2) ขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ทุกราย ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน 3) ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทุกแห่ง ช่วยดำเนินการตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ ลงวันที่ 5 มกราคม 2567 4) ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบํานาญข้าราชการเพื่อชําระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด 5) ขอความอนุเคราะห์ กยศ. ช่วยพิจารณาดำเนินการในส่วนของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการครูประมาณ 8 หมื่นคน โดยดำเนินการตามกฎหมายใหม่โดยเร็ว 6) สนับสนุนประเด็นกฎหมายล้มละลาย ไม่ต้องออกจากราชการ เนื่องจากเจ้าหนี้บางรายใช้กลยุทธ์การฟ้องล้มละลาย ซึ่งปัจจุบันมีครูถูกฟ้องเป็นจำนวนมากแล้วจะส่งผลให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติราชการต่อไปในอนาคต

“สพฐ. ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. มีความห่วงใยสวัสดิภาพและต้องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจากผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมรอบที่ 1-2 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2567) ในภาพรวมของ สพฐ. พบว่า มีผู้ลงทะเบียนรวมจำนวน 6,251 คน จำแนกตามกลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มสีแดงที่ถูกฟ้อง จำนวน 923 คน กลุ่มสีแดงที่ยังไม่ถูกฟ้อง จำนวน 4,076 คน และกลุ่มสีเหลือง จำนวน 1,252 คน จากการดำเนินงานในระหว่างวันที่ 6 มกราคม – 11 มีนาคม 2567 ในจำนวนนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินสำเร็จ จำนวน 41 คน คิดเป็นมูลหนี้สะสมที่แก้ปัญหาได้จำนวน 133,451,942 บาท ตามแนวทาง “สพฐ. ตรวจสุขภาพคนไข้ ให้ยาที่ถูกกับโรค” เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง คนไข้สุขภาพดีขึ้น โดยเป้าหมายสูงสุดของการทำงานครั้งนี้ คือ “คนเป็นหนี้มีคุณภาพชีวิตดี อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” และสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มตามศักยภาพต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ โดยให้มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามแนวทางเดียวกับระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2551 ให้สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสวัสดิการให้ต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต่ำ จากการที่ภาครัฐดูแลและประสานงานให้มีการชำระหนี้ นอกจากนี้ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลให้สหกรณ์ทุกแห่งให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและกำหนดเงินต้นให้เหมาะสม รวมถึงใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ลงตามความจำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ขอให้ทุกหน่วยงานพยายามแก้ปัญหานี้อย่างเต็มกำลัง เนื่องจากข้าราชการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินไปข้างหน้า ภาคส่วนต่างๆ จึงต้องมาร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา โดยสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย คือ การเพิ่มรายได้ของครอบครัว การจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยที่สมเกียรติสมศักดิ์ศรี การรักษาพยาบาลที่ดีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยทุกส่วนเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นกระบวนการที่ต้องการความใส่ใจ ความร่วมมือ และความต่อเนื่อง จึงขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จะเร่งหารือกับผู้เกี่ยวข้องในการประสานขอความร่วมมือทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เพื่อให้ภารกิจการแก้ไขหนี้มีความสำเร็จ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป